วันอังคารที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2556

“ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อกลุ่มอาการหลังผ่าตัดในผู้ที่ได้รับการผ่าตัดช่องท้อง” Factors Influencing Postoperative Symptom Clusters Among Persons Undergone Abdominal Surgery



สรุปเนื้อหาการจัดการความรู้
“เสวนาวิจัย Miniseries: Episode III” ครั้งที่ ๒
เรื่อง “ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อกลุ่มอาการหลังผ่าตัดในผู้ที่ได้รับการผ่าตัดช่องท้อง”
Factors Influencing Postoperative Symptom Clusters Among Persons Undergone Abdominal Surgery



วิทยากรโดย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุภาภรณ์ ด้วงแพง
วันอังคารที่ ๒๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๖ เวลา ๑๕.๓๐ - ๑๗.๓๐ น.
ณ ห้องประชุมนพรัตน์ฯ ชั้น ๖ คณะพยาบาลศาสตร์


สรุปเนื้อหาที่ได้จากการเสวนา 

             กลุ่มอาการหลังการผ่าตัดช่องท้อง นอกจากจะส่งผลให้ผู้ที่ได้รับการผ่าตัดทุกข์ทรมานแล้ว ยังส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อน การฟื้นสภาพล่าช้าและมีข้อจำกัดในการปฏิบัติหน้าที่ การวิจัยนี้เป็นการวิเคราะห์ข้อมูลทุติยภูมิ เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อกลุ่มอาการหลังผ่าตัดช่องท้อง กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ที่ได้รับการผ่าตัดช่องท้อง จำนวน 150 ราย เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้ แบบบันทึกข้อมูลทั่วไป แบบประเมินภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัด และแบบประเมินอาการหลังผ่าตัดช่องท้อง วิเคราะห์ข้อมูลทั่วไปโดยใช้สถิติพรรณนา สถิติการวิเคราะห์ปัจจัย (Factor analysis) และการวิเคราะห์ถดถอยพหุคูณแบบขั้นตอน

              ผลการวิจัยพบว่า ในแต่ละวันของวันที่ 1, 3 และ 5 หลังการผ่าตัด มีกลุ่มอาการเกิดขึ้น 2 กลุ่มอาการ ในวันที่ 1 หลังผ่าตัด 2 กลุ่มอาการคือ 1) อาการปวดแผลผ่าตัด อาการท้องอืด อาการอ่อนล้า และ 2) อาการวิตกกังวล และนอนไม่หลับ โดยปัจจัยที่ทำนายกลุ่มอาการแรก คือ ขนาดของแผล และชนิดของการผ่าตัด (Beta= .236 และ .179 ตามลำดับ; R2 = 8.9) และไม่มีปัจจัยใดที่สามารถทำนายกลุ่มอาการที่ 2

              กลุ่มอาการที่เกิดขึ้นในวันที่ 3 หลังผ่าตัด คือ 1) อาการปวดแผลผ่าตัด อาการท้องอืด อาการอ่อนล้า และอาการนอนไม่หลับ และ 2) อาการวิตกกังวลและคลื่นไส้อาเจียน โดยปัจจัยที่ทำนายกลุ่มอาการแรก คือขนาดของแผลผ่าตัด ภาวะแทรกซ้อน และชนิดของการผ่าตัด (Beta =.338, .242 และ .213 ตามลำดับ; R2 = 23.0 ) และปัจจัยที่สามารถทำนายกลุ่มอาการที่ 2 คือ อายุ (Beta = .279; R2 = 7.8)

             กลุ่มอาการที่เกิดขึ้นในวันที่ 5 หลังผ่าตัด คือ 1) อาการปวดแผลผ่าตัด ท้องอืด อ่อนล้าหลังการผ่าตัด และ 2) อาการวิตกกังวล นอนไม่หลับ โดยปัจจัยที่สามารถทำนายกลุ่มอาการแรก คือ ขนาดของแผลผ่าตัด (Beta =.282; R2 = 8.0) และปัจจัยที่สามารถทำนายกลุ่มอาการที่ 2 คือขนาดของแผลผ่าตัด และระยะเวลาในการผ่าตัด (Beta = .286 และ .226 ตามลำดับ; R2 = 19.1)

             ผลการวิจัยนี้สามารถใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานเพื่อพัฒนาแนวทางการจัดการกลุ่มอาการหลังผ่าตัดสำหรับผู้ที่ได้รับการผ่าตัดช่องท้องที่มีประสิทธิภาพ และการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มอาการหลังผ่าตัดช่องท้องต่อไปการวิจัยนี้ เป็นศึกษาตามแนวคิดและทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับการจัดการกลุ่มอาการ (Symptom Clusters) ซึ่งชี้ให้เห็นว่า อาการของที่เกิดขึ้นมักไม่ได้เกิดเพียงอาการเดียว แต่สามารถเกิดได้มากกว่า ๑ อาการ นั่นหมายถึงอาจจะมีอาการอื่นๆ เกิดขึ้นร่วมกันเสมอ จึงส่งผลให้การจัดการอาการมีความยุ่งยาก หรือไม่ประสบผลสำเร็จ ดังนั้นจึงควรให้ความสำคัญกับกลุ่มอาการที่เกิดขึ้นร่วมกันเพื่อหาแนวทางในการจัดการกับกลุ่มอาการดังกล่าว

การเผยแพร่ :
๑. แจกจ่ายเอกสารสรุปเนื้อหาการเสวนา ยังคณาจารย์ทุกท่านของคณะพยาบาลศาสตร์ และนิสิตที่เข้าร่วมเสวนาวิจัยฯ
๒. เผยแพร่สรุปเนื้อหาทาง เว็ปไซต์ http://nurse.buu.ac.th/BgKM/ การจัดการความรู้ของคณะพยาบาลศาสตร์
๓. สรุปผลการดำเนินกิจกรรมในแฟ้มการจัดการความรู้ ฝ่ายวิจัยฯ คณะพยาบาลศาสตร์ สามารถขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายวิจัยฯ ห้อง N๑๐๑ หรือ โทร. ๒๘๒๓

วันพุธที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2556

การบูรณาการงานบริการวิชาการกับการเรียนการสอนและการทำวิจัย "โครงการบริการส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ"

           การบูรณาการงานบริการวิชาการกับการเรียนการสอนและการทำวิจัย 
"โครงการบริการส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอาย" 
กลุ่มวิชาการพยาบาลผู้สูงอายุ 


             โครงการบริการส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ เริ่มดำเนินการครั้งที่ ๑ มาตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๓๕ และได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องจนถึงโครงการบริการส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ ครั้งที่ ๒๑ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๕๕ ซึ่งการจัดโครงการบริการส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุนี้ มีรูปแบบการจัดที่เน้นการบูรณาการเนื้อหากิจกรรมในการเรียนการสอน การบริการวิชาการ และการวิจัย ลักษณะกิจกรรมประกอบด้วย

             ๑. กิจกรรมการบริการวิชาการ ได้แก่ การตรวจสุขภาพผู้สูงอายุเบื้องต้น กิจกรรมนันทนาการ การแสดงความสามารถของผู้สูงอายุ นิทรรศการ การสอนและสาธิต การให้ความรู้/คำปรึกษาด้านสุขภาพแก่ผู้สูงอายุ ผู้ดูแลและประชาชนที่สนใจ ซึ่งประเด็นหลักของกิจกรรมที่จัดขึ้นในแต่ละปีจะสอดคล้องกับความต้องการของผู้สูงอายุ ตามข้อเสนอแนะที่ผู้เข้าร่วมโครงการฯ ระบุไว้ในการประเมินผลการจัดโครงการฯ ครั้งที่ผ่านมา ร่วมกับเป็นเรื่องที่สำคัญได้รับความสนใจ ณ ช่วงเวลานั้นๆ

             ๒. กิจกรรมการเรียนการสอน ที่เน้นให้นิสิตได้ฝึกประะสบการณ์วิชาชีพ เพื่อให้การดูแลและส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ โดยบูรณาการในการจัดการเรียนการสอนหลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต ตั้งแต่ปีการศึกษา ๒๕๓๕ จนถึงปัจจุบัน ได้แก่ รายวิชาปฏิบัติการดูแลสุขภาพในภาวะเจ็บป่วยเรื้อรัง และรายวิชาปฏิบัติการพยาบาลผู้สูงอายุ และหลักสูตรพยาบาลศาสตรมหาบัณฑิต รายวิชาปฏิบัติการพยาบาลผู้สูงอายุขั้นสูง ๑ โดยนิสิตทั้ง ๒ หลักสูตรฯ ได้พัฒนาและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันจากการมีส่วนร่วมในการดำเนินงานทุกกระบวนการตั้งแต่แรกเริ่มจนสิ้นสุดกิจกรรมโดยมีคณาจารย์เป็นที่ปรึกษา

              ๓. การวิจัย โครงการฯ ครั้งที่ ๑๕ มีการใช้กระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาความรู้ การปฏิบัติ และเจตคติต่อการพยาบาลผู้สูงอายุของนิสิตพยาบาล สรุปได้ว่า กระบวนการพัฒนาฯ ประกอบด้วย การเตรียมการ การกำหนดเป้าหมาย การดำเนินการ และการประเมินผล นิสิตพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการฯมีคะแนนความรู้เกี่ยวกับการพยาบาลผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น ค่าเฉลี่ยของคะแนนการปฏิบัติและเจคติต่อการพยาบาลผู้สูงอายุของนิสิตภายหลังการจัดโครงการฯ เพิ่มขึ้น

             การจัดโครงการฯ นี้ ส่วนใหญ่มีการดำเนินการร่วมกับหน่วยงานภายนอก คือ เทศบาลเมืองแสนสุข นอกจากนี้ ยังได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานอื่นๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนเกี่ยวกับทีมบุคลากรเพื่อการตรวจสุขภาพผู้สูงอายุ และการร่วมกิจกรรมการให้ความรู้ด้านสุขภาพ

             การประเมินผลการจัดกิจกรรมของโครงการฯ ในภาพรวม ผู้สูงอายุและประชาชนที่เข้าร่วมกิจกรรมในโครงการฯ ตระหนักถึงความสำคัญต่อการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุมากขึ้นจากการได้รับความรู้เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพและจากการตรวจคัดกรองภาวะสุขภาพ ผู้สูงอายุได้แสดงออกถึงคุณค่าและความสามารถของตนเอง เกิดเครือข่ายการทำงานร่วมกันระหว่างผู้สูงอายุ ชุมชน และคณะฯ นิสิตได้พัฒนาความรู้ ทักษะและเจตคติที่ดีต่อผู้สูงอายุ รวมทั้งคณาจารย์ได้บูรณาการการบริการวิชาการกับการเรียนการสอนและการวิจัยอย่างต่อเนื่อง

วันจันทร์ที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

“กลุ่มอาการหลังผ่าตัดในผู้ที่ได้รับการผ่าตัดช่องท้อง” Symptom Clusters in Persons Undergone Abdominal Surgery


สรุปเนื้อหาการจัดการความรู้ 
“เสวนาวิจัย Miniseries: Episode III” ครั้งที่ ๑
เรื่อง “กลุ่มอาการหลังผ่าตัดในผู้ที่ได้รับการผ่าตัดช่องท้อง”
Symptom Clusters in Persons Undergone Abdominal Surgery


วิทยากรโดย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จุฬาลักษณ์ บารมี
วันอังคารที่ ๒๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๖ เวลา ๑๓.๓๐ - ๑๕.๓๐ น.
ณ ห้องประชุมนพรัตน์ฯ ชั้น ๖ คณะพยาบาลศาสตร์ 

สรุปเนื้อหาที่ได้จากการเสวนา

             ปัจจุบันการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดในช่องท้องพบได้บ่อย ซึ่งอาการหลังการผ่าตัดช่องท้องส่งผลให้ผู้ที่ได้รับการผ่าตัดทุกข์ทรมาน เกิดภาวะแทรกซ้อน การฟื้นสภาพล่าช้า ทั้งนี้ อาจเกิดจากช่วงระหว่างการผ่าตัด อาการของโรค หรืออาจเกิดจากผลของยาระงับความรู้สึก และอาการปวดต่างๆ ของโรค อาการที่เกิดจากการผ่าตัดในช่องท้องทำให้ผู้ป่วยไม่สุขสบายทั้งร่างกายและจิตใจ อาการต่างๆ ที่เกิดขึ้น ส่งผลให้การรับรู้ของบุคคลถึงการเปลี่ยนแปลงการทำหน้าที่ของร่างกาย และส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ของบุคคล อาการหลังการผ่าตัดช่องท้องมีหลายอาการ ได้แก่ อาการปวด เหนื่อยล้า ท้องอืด วิตกกังวล นอนไม่หลับ และ คลื่นไส้อาเจียน อาการเหล่านี้อาจเกิดขึ้นพร้อมๆ กัน ไล่เลี่ยกัน หรือเกิดขึ้นบางอาการมากน้อยแตกต่างกันไปตามแต่ละบุคคล ตามแนวคิดเกี่ยวกับกลุ่มอาการ (Symptom Clusters) คือ อาการตั้งแต่ ๒ อาการหรือมากกว่าที่เกิดขึ้นร่วมกัน หรือมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน การจัดกลุ่มอาการจะช่วยให้พยาบาลจัดการกับอาการที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ

              กลุ่มอาการที่เกิดขึ้นร่วมกัน หรือมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน อธิบายด้วยสาเหตุหรือกลไกที่ทำให้เกิดอาการร่วมกัน พร้อมๆ กัน ในเชิงวิเคราะห์ทางสถิติ เรียกว่า share variances มีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน และมีความผันแปรของคะแนนที่เกิดขึ้นร่วมกัน การวิเคราะห์กลุ่มอาการ สามารถวิเคราะห์โดยการหาความสัมพันธ์ (correlation) แต่วิธีนี้มีข้อจำกัดคือหาได้แต่ละคู่เท่านั้น (bi-variate) กรณีที่จะหาองค์ประกอบหรือปัจจัยที่ทำเกิด มากกว่า ๒ ขึ้นไปจึงไม่เหมาะสม ดังนั้น การวิเคราะห์การวิเคราะห์ความสัมพันธ์ที่มีมากกว่า ๒ อาการขึ้นไป วิธีที่เหมาะสมที่สุดและใช้กันบ่อย คือ การวิเคราะห์ปัจจัย (factor analysis)

               ดังนั้น การวิจัยเพื่อจัดกลุ่มอาการนี้ (symptom cluster) จึงเลือกใช้สถิติการวิเคราะห์ปัจจัย (factor analysis) แบบ Principal Axis Factoring (PAF) เพื่ออธิบายว่าอาการที่เกิดร่วมกันหลายๆ อาการนั้น อยู่ในกลุ่มเดียวกันหรือไม่ และเพื่ออธิบายความสัมพันธ์ร่วมกันระหว่างอาการต่าง ๆ มีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันอย่างไร และใช้การหมุนแกนด้วยวิธี direct oblimin เพื่อพิจารณาเกณฑ์ในการตัดสินถึงจำนวนด้านหรือองค์ประกอบที่ควรจะมีในกลุ่มอาการนั้น ๆ

การเผยแพร่ :
๑. แจกจ่ายเอกสารสรุปเนื้อหาการเสวนา ยังคณาจารย์ทุกท่านของคณะพยาบาลศาสตร์ และนิสิตที่เข้าร่วมเสวนาวิจัยฯ
๒. เผยแพร่สรุปเนื้อหาทาง เว็ปไซต์ http://nurse.buu.ac.th/BgKM/ การจัดการความรู้ของคณะพยาบาลศาสตร์
๓. สรุปผลการดำเนินกิจกรรมในแฟ้มการจัดการความรู้ ฝ่ายวิจัยฯ คณะพยาบาลศาสตร์ สามารถขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายวิจัยฯ ห้อง N๑๐๑ หรือ โทร. ๒๘๒๓

ความรู้จากคุณแม่สู่บริการวิชาการและการเรียนการสอน : การคลอดธรรมชาติ

              องค์ความรู้เกี่ยวกับการคลอดธรรมชาติ ได้จากวิจัยเชิงคุณภาพเรื่องกระบวนการเผชิญการคลอดของหญิงไทย ผู้ให้ข้อมูลเป็นคุณแม่ครรภ์แรกจำนวน 20 คน ที่คลอดโดยไม่เคยผ่านการสอนเตรียมตัวคลอดและไม่ได้รับการดูแลเป็นพิเศษ ทำการสัมภาษณ์เชิงลึกอย่างน้อย 2 ครั้ง ทำให้เข้าใจว่า คุณแม่ทำอย่างไรเพื่อให้ผ่านการคลอดได้ ข้อค้นพบจากงานวิจัยนี้อาจมีส่วนให้พยาบาลผดุงครรภ์มีแนวทางดูแลคุณแม่ระยะคลอดให้สามารถคลอดด้วยตนเองและรู้สึกดีต่อการคลอด
              ข้อสรุปสำคัญ ได้แก่
               1. การฝึกเตรียมตัวคลอดอย่างเป็นรูปแบบไม่จำเป็นเสมอไป คุณแม่แต่ละคนมีระบบการเตรียมตัวคลอดตามแนวทางของตนเองตามธรรมชาติ
               2. การประคบประหงมมารดาในระยะคลอดไม่จำเป็นเสมไป การคิดบวกเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการเผชิญการคลอด และวิธีการเผชิญการคลอดที่ดีคือการเคลื่อนไหว เปลี่ยนท่า ซึ่งส่งเสริมให้ลูกเคลื่อนผ่านหาทางคลอดออกมาได้ดี
               ในระยะตั้งครรภ์ คุณแม่ทุกคนมีความกลัวการคลอด และพยายามหาความรู้เกี่ยวกับการคลอดเพื่อให้เกิดความมั่นใจในการคลอด แหล่งข้อมูลความรู้ที่สำคัญคือ แม่ เพื่อนที่ทำงาน คนรู้จักที่เคยคลอด หนังสือ โทรทัศน์ ส่วนความรู้เรื่องการคลอดที่ได้รับจากบุคลากรวิชาชีพด้านสุขภาพนั้นไม่เพียงพอ ไม่ว่าจะฝากครรภ์ที่โรงพยาบาลหรือคลินิกก็ตาม คุณแม่ตั้งครรภ์ต้องการความรู้และคำปรึกษาเกี่ยวกับการคลอดและวิธีปฏิบัติตนระยะคลอดจากการฝากครรภ์
               เมื่อเข้าสู่ระยะเจ็บครรภ์คลอด คุณแม่ส่วนใหญ่พบว่า การคลอดเป็นความเจ็บปวดที่รุนแรงชนิดที่คาดไม่ถึง แบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เป็นความรู้สึกทางลบที่รุนแรงที่สุด ความเจ็บปวดของแต่ละคนแตกต่างกัน บางคนปวดน้อย ปวดไม่นาน แต่ก็ปวดรุนแรงที่สุดในชีวิต บางคนปวดมากถึงขั้นรู้สึกทรมาน ทนไม่ไหว อยากขอผ่าตัดคลอดเพื่อพ้นจากความเจ็บปวด (คุณแม่มักขอผ่าตัดคลอดเมื่อใกล้คลอด) บางคนปวดนานจนถึงขั้นรู้สึกเหมือนจะตาย พลังที่จะช่วยให้คุณแม่ผ่านการคลอดได้คือพลังภายในหรือแรงฮึดคือความเข้มแข็งของแม่อันเกิดจากความรักและผู้พันที่มีต่อลูก นึกถึงลูก อยากเห็นหน้าลูก ทนเพื่อลูก และพลังงานภายนอกหรือกำลังใจคือความรู้สึกว่ายังอยู่ได้ทนได้เพราะมีคนอยู่เป็นเพื่อน ซึ่งต้องการสามีมากที่สุด
               ประเด็นที่น่าสนใจ ได้แก่ ความสำเร็จในการเผชิญการคลอดของคุณแม่ขึ้นอยู่กับปัจจัย 2 ประการ ได้แก่ การให้ความหมายของความเจ็บปวดในทางบวก และความสามารถในการสื่อสารกับผู้ดูแล ตราบใดที่คุณแม่ยังคงคิดบวกได้ตลอดเวลา คุณแม่จะสามารถมีพลังใจในการอดทนต่อการเจ็บครรภ์จนผ่านการคลอดได้ และจากงานวิจัยนี้ดิฉันได้เขียนเอกสารเตรียมตัวคลอดแจกให้คุณแม่ที่หน่วยงานฝากครรภ์ โรงพยาบาลพุทธโสธร ตั้งต่ปี พ.ศ. 2547 หากใครต้องการติดต่อขอได้ที่ uchuahorm@gmail.com

วันจันทร์ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

การจัดการความรู้ เรื่อง "Sampling: การได้มาซึ่งกลุ่มตัวอย่าง"



๑. ประชากร (Population) คือ กลุ่มของสิ่งที่ต้องการศึกษาทั้งหมด ประกอบด้วย หน่วยย่อยๆ หรือหน่วยวิเคราะห์ (Unit of Analysis) ที่รวมเป็นกลุ่มข้อมูล เช่น ประชาชนทั่วไป ผู้สูงอายุ ครอบครัว องค์กรชุมชน โต๊ะ เก้าอี้ ฯลฯ

๒. กลุ่มตัวอย่าง (Sample) คือ กลุ่มย่อยของประชากรที่ใช้ศึกษาแทนประชากร ทั้งนี้การกำหนดขนาดตัวอย่างที่เหมาะสม และใช้วิธีการเพื่อให้ได้มาซึ่งกลุ่มตัวอย่างที่ดี ผลการศึกษาในกลุ่มตัวอย่างก็จะแตกต่างกับการศึกษาในประชากรไม่มากนัก อันเป็นการประหยัดทรัพยากรในการทำวิจัย

๓. การได้มาซึ่งกลุ่มตัวอย่าง แบ่งได้เป็น ๒ ประเภท คือ (๑) การได้มาซึ่งกลุ่มตัวอย่างแบบสุ่ม (randomization) หรือโดยอาศัยความน่าจะเป็น (probability random sampling) กับ (๒) การได้มาโดยไม่สุ่ม (non-randomization) หรือไม่อาศัยความน่าจะเป็น (non-probability random sampling)

๔. การสุ่มตัวอย่างในการวิจัยเชิงทดลอง (Experimental Research) สิ่งที่ต้องคำนึงถึงในการวิจัยเชิงทดลองได้แก่
            - ความตรงภายใน (Internal Validity) เป็นความน่าเชื่อถือของผลของสิ่งทดลอง ซึ่งขึ้นอยู่กับการมีกลุ่มควบคุมการจัดสรรกลุ่มโดยการสุ่ม (random assignment/ allocation) การควบคุมปัจจัยอื่น ที่อาจมีอิทธิพลผลการทดลอง ฯลฯ
            - ความตรงภายนอก (External Validity) เป็นความน่าเชื่อถือของผลการวิจัยที่จะนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป ขึ้นกับการได้มาซึ่งกลุ่มตัวอย่างหรือการสุ่มตัวอย่างเพื่อแทนประชากรทั้งหมด (random sampling) เป็นสำคัญ หากกลุ่มตัวอย่างไม่สามารถแทนประชากรได้การนำผลการวิจัยไปใช้ในประชากรก็อาจไม่ได้ผลเหมือนขณะที่ทำการวิจัย
            ดังนั้น การวิจัยที่ดีควรมีการสุ่มตัวอย่างที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการวิจัยเชิงทดลองหรือกึ่งทดลองควรมีการสุ่มตัวอย่าง หรือได้กลุ่มตัวอย่างมาโดยอาศัยความน่าจะเป็น ซึ่งจะทำให้ผลการวิจัยสามารถบอกผลของสิ่งทดลอง สามารถอ้างอิงไปยังประชากรได้ (ด้วยวิธีการ และ เครื่องมือเดียวกัน) และสามารถนำสิ่งทดลองไปใช้ประโยชน์ในประชากรต่อไปได้ การศึกษาในกลุ่มตัวอย่างที่ไม่ได้สุ่มตัวอย่าง หรือการศึกษาในกลุ่มประชากรที่มีลักษณะเฉพาะมาก (ด้วยเหตุที่นักวิจัยคิดว่ามีจำนวนน้อยไม่สามารถสุ่มตัวอย่างได้) ผลการวิจัยก็จะตอบเฉพาะในกลุ่มที่ศึกษาไม่สามารถอ้างอิงไปยังประชากรได้
            นอกจากนี้ในหลักของการพิจารณาจริยธรรมในการวิจัย การสุ่มตัวอย่าง (randomization) เป็นวิธีหนึ่งที่ทำให้เกิดความยุติธรรมกับกลุ่มตัวอย่างที่ศึกษา เป็นการลดความลำเอียง (bias) ที่อาจเกิดขึ้นได้

วันศุกร์ที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

แนวปฏิบัติที่ดีของฝ่ายพัฒนานิสิต

งานการดำเนินงาน
๑. งานพัฒนานิสิต :  การจัดทำโครงการ๑.๑ วางแผนโครงการ          
๑.๑.๑  พิจารณาโครงการให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์   พันธกิจ และสถานการณ์ปัจจุบัน
๑.๑.๒  ดำเนินการเขียนโครงการ
๑.๑.๓  คณะกรรมการฝ่ายร่วมประชุมพิจารณาโครงการ
๑.๑.๔  แต่งตั้งผู้รับผิดชอบโครงการและคณะกรรมการดำเนินงาน
๑.๑.๕  ขออนุมัติหลักการ
๑.๒ ดำเนินการตามแผน๑.๒.๑      ประธานโครงการและคณะกรรมการดำเนินงานร่วมประชุมรายละเอียดของการดำเนินงาน
๑.๒.๒      ประสานงานกับฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
๑.๒.๓      ประชาสัมพันธ์โครงการ
๑.๒.๔      จัดโครงการตามแผน
๑.๓ ประเมินผล๑.๓.๑       เตรียมแบบประเมินผลโครงการที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของโครงการ
๑.๓.๒       ประเมินผลเมื่อสิ้นสุดโครงการ
๑.๓.๓      รวบรวมผลการประเมินนำเสนอที่ประชุม
๑.๓.๔     นำผลการประเมินไปปรับปรุงการจัดโครงการครั้งต่อไป
๒. งานทุนการศึกษา ๒.๑ วางแผนงานทุนการศึกษา
๒.๑.๑       แต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินงานด้านทุนการศึกษา
๒.๑.๒       สรรหาและรวบรวมแหล่งทุน
๒.๒ ดำเนินงานจัดสรรทุน๒.๒.๑       คณะกรรมการร่วมประชุมเพื่อพิจารณาหลักเกณฑ์ของทุน
๒.๒.๒       ประกาศรับสมัครผู้มีคุณสมบัติตามเกณฑ์
๒.๒.๓       ประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิ์เข้ารับการพิจารณารับทุน
๒.๒.๔       คณะกรรมการดำเนินการพิจารณาผู้รับทุน
๒.๒.๕       ประกาศรายชื่อผู้ที่ได้รับทุน
๒.๒.๖       ดำเนินการเบิกจ่ายทุน
๒.๓ ประเมินผล๒.๓.๑       เตรียมแบบประเมินผลผู้ที่ได้รับทุน
๒.๓.๒       ติดตามประเมินผลผู้ที่ได้รับทุน
๓. งานหอพักคณะพยาบาลศาสตร์ ๓.๑ วางแผนงานหอพักคณะพยาบาลศาสตร์๓.๑.๑   แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารงานหอพักคณะพยาบาลศาสตร์
๓.๑.๒   จัดทำแผนการบริหารงานและแผนการดำเนินงานหอพักคณะพยาบาลศาสตร์
๓.๒  ดำเนินงานหอพักคณะพยาบาลศาสตร์๓.๒.๑   ดำเนินงานด้านการบริการห้องพัก
     ๓.๒.๑.๑ ประกาศห้องพัก รับจองห้องพัก พร้อมแจ้งระเบียบการชำระเงินค่าจองหอพัก
     ๓.๒.๑.๒ พิจารณาผู้มีคุณสมบัติตามข้อกำหนดของหอพัก ๓.๒.๑.๓ ประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิ์เข้าพัก
     ๓.๒.๑.๔ จัดสรรห้องพักให้กับผู้มีสิทธิ์เข้าพัก
     ๓.๒.๑.๕ ดูแลให้ผู้เข้าพักรายงานตัวเข้าห้องพัก กรอกประวัติ ทำบัตรประจำตัว และแจ้งการชำระค่าหอพักประภาคการศึกษา
     ๓.๒.๑.๖ ประชุมแจ้งกฎระเบียบการพักในหอพัก
๓.๒.๒  ดำเนินงานด้านการทำความสะอาด
     ๓.๒.๒.๑ วางแผนการทำความสะอาดห้องพักและอื่นๆ ตลอดภาคการศึกษา
     ๓.๒.๒.๒ ดูแลควบคุมเจ้าหน้าที่ที่ทำความสะอาดและผู้ที่เกี่ยวข้อง
๓.๒.๓  ดำเนินงานด้านการซ่อมแซมอุปกรณ์และครุภัณฑ์
     ๓.๒.๓.๑ สำรวจและรับแจ้งอุปกรณ์ที่ชำรุดเสียหาย
     ๓.๒.๓.๒ ประสานงานกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง
     ๓.๒.๓.๓ ดำเนินการซ่อมแซม
     ๓.๒.๓.๔ ติดตามผลการซ่อมแซม
๓.๓ ประเมินผล๓.๓.๑      เตรียมแบบประเมินผลให้ครอบคลุมงานทั้ง ๓ ด้าน
๓.๓.๒      ดำเนินการประเมินผล
๓.๓.๓      รวบรวมผลการประเมินนำเสนอที่ประชุม
๓.๓.๔      นำผลการประเมินไปปรับปรุงงานต่อไป
แนวปฏิบัติการจัดโครงการ ของฝ่ายพัฒนานิสิต คณะพยาบาลศาสตร์ 
        ๑.  นักวิชาการการศึกษา เขียนโครงการ และบันทึกข้อความเสนออนุมัติโครงการฯ เพื่อจัดกิจกรรม (ก่อนการจัดโครงการอย่างน้อย ๒ เดือน)
        ๒.  อาจารย์ที่ปรึกษาโครงการ ตรวจพิจารณาโครงการ และลงชื่อรับรองโครงการฯ 
        ๓.  นําหนังสือเสนอโครงการฯ เพื่อจัดกิจกรรม พร้อมโครงการที่จะขอจัด ที่อาจารย์ที่ปรึกษาโครงการลงนามรับรองแล้ว นําเสนอ  รองคณบดีฝ่ายพัฒนานิสิต 
        ๔.  รองคณบดีฝ่ายพัฒนานิสิต ตรวจสอบ และปรับแก้ไขโครงการ (ใช้เวลาประมาณ ๑ วัน) 
        ๕.  ปรับแก้ไขโครงการตามที่ ได้รับข้อเสนแนะ แล้วนําส่งโครงการ ต่อรองคณบดีหรือผู้ช่วยคณบดีฝ่ายพัฒนานิสิตลงนาม และคณบดีอนุมัติตามลําดับ (ใช้เวลาประมาณ ๗ วัน) 
        ๖.  เจ้าหน้าที่งานฝ่ายนิสิตสำเนาโครงการที่ได้รับอนุมัติ ให้แก่นิสิตผู้รับผิดชอบโครงการ อาจารย์ที่ปรึกษาโครงการ รองคณบดีฝ่ายพัฒนานิสิต และสแกนเอกสารเก็บไว้ในเครื่องคอมพิวเตอร์ของฝ่ายฯ 
        ๗.  เจ้าหน้าที่ฝ่ายพัฒนานิสิต ดำเนินการยืมเงิน (โครงการที่ใช้งบประมาณจากคณะฯ) เพื่อใช้ในการดำเนินงานโครงการฯ
        ๘.  ประชาสัมพันธ์การจัดโครงการเพื่อเชิญคณาจารย์ บุคลากรและนิสิตชั้นปี ต่าง ๆ เข้าร่วม โดย
                 ๘.๑  ทำป้ายประกาศ
                 ๘.๒  ทำบัตรเชิญ /บันทึกข้อความเชิญอาจารย์เข้าร่วม 
        ๙.  ดําเนินการจัดโครงการตามแผนที่ระบุไว้ 
        ๑๐.  เก็บรายชื่อผู้เข้าร่วมโครงการ และสํารวจความพึงพอใจของผู้เข้าร่วมกิจกรรม โดยใช้แบบประเมินผลโครงการ
        ๑๑.  เมื่อดําเนินโครงการเสร็จสิ้นแล้ว ให้ดําเนินการสรุปเป็นรูปเล่ม จํานวน ๔ เล่ม ส่งที่ฝ่ายพัฒนานิสิต ๒ เล่ม ฝ่ายแผนฯ ๑ เล่ม เก็บไว้ที่สโมสรนิสิต ๑ เล่ม (ยกเว้นโครงการที่ของบประมาณจากมหาวิทยาลัย ให้ส่งกองกิจการนิสิต อีก ๑ เล่ม) 
        ๑๒.  ส่งภาพบรรยากาศการดําเนินโครงการ (การเตรียมการ ระหว่างจัดกิจกรรม และเสร็จสิ้นการจัดกิจกรรม) มาที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายพัฒนานิสิต เพื่อตีพิมพ์ลงในจดหมายข่าวของคณะฯ และประชาสัมพันธ์ในเว็บไซต์ต่อไป
 
แนวปฏิบัติการจัดทํากิจกรรม ของสโมสรนิสิตคณะพยาบาลศาสตร์ 
        ๑.  นิสิตผู้รับผิดชอบโครงการ เขียนโครงการ และบันทึกข้อความเสนออนุมัติโครงการฯ เพื่อจัดกิจกรรม (ก่อนการจัดโครงการอย่างน้อย ๒ เดือน) 
        ๒.  อาจารย์ที่ปรึกษาโครงการ ตรวจพิจารณาโครงการ และลงชื่อรับรองโครงการฯ 
        ๓.  นิสิตผู้รับผิดชอบโครงการ นําหนังสือเสนอโครงการฯ เพื่อจัดกิจกรรม พร้อมโครงการที่จะขอจัด ที่อาจารย์ที่ปรึกษาโครงการลงนามรับรองแล้ว ส่งที่เจ้าหน้าที่งานกิจการนิสิตเพื่อนําเสนอ   รองคณบดีฝ่ายพัฒนานิสิต 
        ๔.  รองคณบดีฝ่ายพัฒนานิสิต ตรวจสอบ และปรับแก้ไขโครงการ (ใช้เวลาประมาณ ๑ วัน) 
        ๕.  นิสิตผู้รับผิดชอบโครงการ แก้ไขโครงการตามที่ ได้รับข้อเสนแนะ แล้วนําส่งโครงการ     ที่เจ้าหน้าที่งานฝ่ายนิสิต เพื่อเสนอรองคณบดีหรือผู้ช่วยคณบดีฝ่ายกิจการนิสิตลงนาม และคณบดีอนุมัติตามลําดับ (ใช้เวลาประมาณ ๗ วัน) 
        ๖.  เจ้าหน้าที่งานฝ่ายนิสิตสำเนาโครงการที่ได้รับอนุมัติ ให้แก่นิสิตผู้รับผิดชอบโครงการ อาจารย์ที่ปรึกษาโครงการ รองคณบดีฝ่ายพัฒนานิสิต และสแกนเอกสารเก็บไว้ในเครื่องคอมพิวเตอร์ของฝ่ายฯ 
        ๗.  เจ้าหน้าที่ฝ่ายพัฒนานิสิต ดำเนินการยืมเงิน (โครงการที่ใช้งบประมาณจากคณะฯ) เพื่อใช้ในการดำเนินงานโครงการฯ 
        ๘.  ประชาสัมพันธ์การจัดโครงการเพื่อเชิญคณาจารย์ บุคลากรและนิสิตชั้นปี ต่าง ๆ เข้าร่วม โดย 
            ๘.๑  ทำป้ายประกาศ
            ๘.๒  ทำบัตรเชิญ /บันทึกข้อความเชิญอาจารย์เข้าร่วม 
        ๙.  ดําเนินการจัดโครงการตามแผนที่ระบุไว้ 
        ๑๐.  เก็บรายชื่อผู้เข้าร่วมโครงการ และสํารวจความพึงพอใจของผู้เข้าร่วมกิจกรรม โดยใช้แบบประเมินผลโครงการ 
        ๑๑.  เมื่อดําเนินโครงการเสร็จสิ้นแล้ว ให้ดําเนินการสรุปเป็นรูปเล่ม จํานวน ๔ เล่ม ส่งที่ฝ่ายพัฒนานิสิต ๒ เล่ม ฝ่ายแผนฯ ๑ เล่ม เก็บไว้ที่สโมสรนิสิต ๑ เล่ม (ยกเว้นโครงการที่ของบประมาณจากมหาวิทยาลัย ให้ส่งกองกิจการนิสิต อีก ๑ เล่ม) 
        ๑๒.  ส่งภาพบรรยากาศการดําเนินโครงการ (การเตรียมการ ระหว่างจัดกิจกรรม และเสร็จสิ้นการจัดกิจกรรม) มาที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายพัฒนานิสิต เพื่อตีพิมพ์ลงในจดหมายข่าวของคณะฯ และประชาสัมพันธ์ในเว็บไซต์ต่อไป

วันศุกร์ที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

จากการจัดประชุมโครงการสัมมนาวิชาการ ประจำปี พ.ศ.๒๕๕๕ คณะฯ ได้แนวปฏิบัติ ดังนี้
      ๑. การเขียนแผนการสอน ทุกรายวิชาทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ดังนี้
          ๑.๑ มีการเขียนแผนการสอนครบทุกหัวข้อ
          ๑.๒ แผนการสอนที่เขียนครบทุกหัวข้อต้องเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ และแสดงให้เห็นถึงผลการเรียนรู้ที่กำหนดไว้ในหลักสูตร (วงกลมดำ และวงกลมขาว) ตามแบบฟอร์มที่ฝ่ายวิชาการกำหนดไว้
     ๒. การเขียนหมวดที่ ๖ ในแบบฟอร์ม มคอ. ๓ ว่าด้วยตำราหลักและเอกสารข้อมูลสำคัญ มีสาระสำคัญดังนี้
          ๒.๑ ตำราหลัก ต้องเป็นหนังสือที่มีทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษที่มีเนื้อหาสอดคล้องกับเรื่องที่เรียนรายวิชาละอย่างน้อย ๓ เล่ม
          ๒.๒ เอกสารข้อมูลสำคัญ ต้องกำหนดให้มีทั้งเอกสารภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และการค้นคว้าบนฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ
     ๓. การนำข้อเสนอแนะจากผู้เรียนและผู้สอนในการจัดการเรียนการสอนในรายวิชาที่ผ่านมา ที่ปรากฏอยู่ในแบบฟอร์ม มคอ.๕ และแบบฟอร์ม มคอ.๖ จะต้องเขียนให้ปรากฏอยู๋ใน แบบฟอร์ม มคอ.๓ และแบบฟอร์ม มคอ.๔ ของปีการศึกษาต่อไป
     ๔. การให้เกรดนิสิตในหมวดวิชาชีพ หลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ.๒๕๕๔ ให้ได้ไม่ต่ำกว่าเกรด นั้น ในกรณีที่ผลการเรียนมีแนวโน้มได้ต่ำกว่าเกรด ให้คณะกรรมการรายวิชามีการพัฒนานิสิตก่อน และให้สอบซ่อมตามขั้นตอน แต่ถ้าผลการสอบซ่อมไม่ผ่านให้ทำบันทึกข้อความแจ้งที่ฝ่ายวิชาการ เพื่อรายงานต่อคณะกรรมการบริหารคณะพยาบาลศาสตร์พิจารณาต่อไป
     หมายเหตุ คะแนนที่พิจารณาผ่านได้เกรด คิดจากคะแนนสอบ คะแนนเก็บ และคะแนนกิจกรรมรวมเป็นร้อยละ ๖๐
          ๕. การประเมินจริยธรรมในรายวิชาปฏิบัติ ให้นำคะแนนมารวมเป็นส่วนหนึ่งของคะแนนภาคปฏิบัติ ส่วนการทำผิดจริยธรรมร้ายแรงให้ทำบันทึกข้อความแจ้งที่ฝ่ายวิชาการ เพื่อรายงานคณะกรรมการบริหารคณะพยาบาลศาสตร์รับทราบ

วันอังคารที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

สรุปประเด็นสำคัญในโครงการ “สัมมนาวิชาการ ประจำปี พ.ศ. ๒๕๕๖”

สรุปประเด็นสำคัญในโครงการ “สัมมนาวิชาการ ประจำปี พ.ศ. ๒๕๕๖”
ระหว่างวันที่ ๒๑-๒๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๖ เวลา ๐๘.๐๐-๑๖.๓๐ น.
ณ ห้อง N ๒๐๙ ชั้น ๒ อาคาร ผศ.นพรัตน์ ผลาพิบูลย์ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา
๑.การประกันคุณภาพการศึกษา 
    ๑.๑ การประกันคุณภาพการศึกษาแบ่งออกเป็น 
        ๑) ประกันคุณภาพการศึกษาภายใน  โดยสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา  ประกอบด้วย ๙ องค์ประกอบ ๒๓ ตัวบ่งชี้ 
        ๒) ประกันคุณภาพการศึกษาภายนอก โดยสำนักรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา มุ่งเน้นการประเมินผลผลิต ผลลัพธ์ และผลกระทบ  ประกอบด้วย ๓ กลุ่มตัวบ่งชี้ คือกลุ่มตัวบ่งชี้พื้นฐาน  กลุ่มตัวบ่งชี้อัตลักษณ์ และกลุ่มตัวบ่งชี้มาตรการส่งเสริม รวม๑๘ ตัวบ่งชี้ 
           อัตลักษณ์ มหาวิทยาลัยบูรพา คือ บัณฑิตรักสุขภาพ 
              เอกลักษณ์ หมายถึง ความสำเร็จตามจุดเน้นและจุดเด่นที่สะท้อนให้เห็นเป็นลักษณะโดดเด่นเป็นหนึ่งของสถานศึกษา 
              เอกลักษณ์มหาวิทยาลัยบูรพา คือ เป็นแหล่งเรียนรู้ศาสตร์ทางทะเลของประชาคมอาเซียน 
              เกณฑ์การประเมินคุณภาพ ตามมาตรฐานของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.)  สำนักงานรับรองมาตรฐานและการประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.)  และสภาการพยาบาล 
    ๑.๒ การเตรียมเพื่อการประกันคุณภาพการศึกษา ประเด็นสำคัญได้แก่ 
         ๑) อาจารย์ทุกคนควรจะมีภาระหลักให้ครบทั้ง ๔ ภาระกิจหลัก 
         ๒) แผนการสอนต้องมีครบทุกวิชา ทุกหัวข้อ 
         ๓) การบรรลุวัตถุประสงค์ผลการเรียนรู้ เรื่องคุณธรรมจริยธรรม เกี่ยวกับการตรงต่อเวลาของนิสิต  งานฝ่ายพัฒนานิสิต  จะนำไปดำเนินการเขียนโครงการพัฒนาความตรงต่อเวลาของนิสิต   

๒. การดำเนินงาน หลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิตฉบับปรับปรุง พ.ศ. ๒๕๕๔ ฝ่ายวิชาการได้ดำเนินการดังนี้ 
     ๒.๑  ดัชนีบ่งชี้ผลการดำเนินงานทั้งหมด ๒๑ เป็นตัวบ่งชี้ได้ดำเนินการไปตามเวลาที่กำหนด 
     ๒.๒  มีการกำหนดรายวิชาที่ใช้ภาษาอังกฤษในการสอน อย่างน้อยร้อยละ ๑๐
     ๒.๓ ตารางทวนสอบรายวิชาพยาบาล หลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต โดยวิชาที่ต้องทวนสอบในปีการศึกษา ๒๕๕๖ มีรายละเอียดดังนี้ ปีการศึกษา ฤดูร้อน /๒๕๕๖ คือ รายวิชา ๑๐๗๓๑๕  ปฏิบัติการพยาบาลพื้นฐาน ปีการศึกษา ๑//๒๕๕๖ คือ รายวิชา ๑๐๑๒๐๑ การพยาบาลชุมชน ๑ รายวิชา ๑๐๗๒๐๙ พยาธิสรีรสำหรับการพยาบาล รายวิชา ๑๐๕๓๐๑ การพยาบาลผู้สูงอายุ รายวิชา ๑๐๖๓๐๒ การพยาบาลสุขภาพจิตและจิตเวช๒ ปีการศึกษา ๒/ ๒๕๕๖ คือ รายวิชา ๑๐๔๓๐๑ การวิจัยและสารสนเทศทางการพยาบาล รายวิชา ๑๐๗๒๑๔ การพยาบาลพื้นฐาน ๒ รายวิชา ๑๐๕๓๐๒ ปฏิบัติการพยาบาลผู้สูงอายุ รายวิชา ๑๐๒๓๐๓ ปฏิบัติการพยาบาลมารดา-ทารกและการผดุงครรภ์๑
     ๒.๔ อาจารย์ผู้รับผิดชอบหลักสูตร และอาจารย์ประจำหลักสูตร บางคนลาออกและเกษียณอายุราชการ และ ลาศึกษาต่อปริญญาเอก  ดังนั้นจึงจำเป็นต้องหาอาจารย์ผู้รับผิดชอบหลักสูตรเพิ่มเติม 
     ๒.๕  ฝ่ายวิชาการอยู่ระหว่างการติดตาม รายงานผลการดำเนินของรายวิชา ตามแบบมคอ.๕ และ มคอ. ๖  ในภาคการศึกษา ๒ / ๒๕๕๔ ภาคการศึกษา ๑/ ๒๕๕๕ และ ภาคการศึกษา  ๒/๒๕๕๕ 
     ๒.๖ การจัดทำรายงานผลการดำเนินการของหลักสูตร ตามแบบ มคอ.๗  ของนิสิตรหัส ๕๔ ได้จัดทำเรียบร้อยแล้วของปี ๒๕๕๔ และอยู่ระหว่างการจัดทำ มคอ ๗ ของนิสิตรหัส ๕๔ และรหัส ๕๕ ของปีการศึกษา ๒๕๕๕ 
     ๒.๗ การทวนสอบผลสัมฤทธิ์ของนักศึกษาตามมาตรฐานผลการเรียนรู้ - ในปีการศึกษา ๒๕๕๔  ฝ่ายวิชาการได้ทำการทวนสอบวิชา ๑๐๗๒๐๑ การสร้างเสริมสุขภาพแบบองค์รวม และ ๑๐๗๑๐๙ แนวคิดพื้นฐานทางการพยาบาล -ในปีการศึกษา ๑/ ๒๕๕๕   ได้ทำการทวนสอบวิชา ๑๐๗๒๐๑ ทฤษฏีทางการพยาบาล   และ๑๐๖๒๐๑ การพยาบาลสุขภาพจิตและจิตเวช 
     ๒.๘. ข้อเสนอแนะอื่นๆ จากที่ประชุม 
             ๑ ) เรื่องการเปิดภาคเรียนในปีการศึกษา ๒๕๕๗  ตามอาเซียน ซึ่งจะเปิดในเดือนสิงหาคมให้ฝ่ายวิชาการไปประสานงานกับฝ่ายวิชาการของมหาวิทยาลัย เพื่อสรุปวันที่เปิดเรียนที่ชัดเจน
             ๒) การจัดการเรียนการสอนเรื่องของความหลากหลายทางวัฒนธรรม  ให้แต่ละรายวิชาที่กำหนดไว้ควรกำหนดกิจกรรมให้เห็นชัดเจน 
             ๓) การจัดการเรียนการสอนในเรื่อง กระบวนการวิจัยหรืองานสร้างสรรค์ในรายวิชาต่างๆ นั้นมีข้อเสนอแนะดังนี้
                     - ในรายวิชาที่ขึ้นฝึกปฏิบัติให้นิสิตฝึกหัด ตั้งโจทย์สมมติฐานการวิจัย 
                     - กระตุ้นให้นิสิตคิดด้วยกระบวนการวิจัยและต้องมีหลักฐานที่ชัดเจน 
                     - เสนอแนะให้แต่ละชั้นปี  มีขั้นตอนการศึกษาค้นคว้ากระบวนการวิจัยที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อนมาก  โดยอาจจะให้นิสิตทำงานเป็นงานกลุ่ม 
            ๕) การสำเร็จการศึกษาของนิสิต ถ้านิสิต ได้เกรดในรายวิชาชีพ ต่ำกว่า C จะไม่สามารถจบการศึกษาของมหาวิทยาลัยตามหลักสูตร ถ้านิสิตได้เกรดต่ำกว่า C นิสิตต้องลงทะเบียนเรียนใหม่ 
            ๖) การจัดการเรียนการสอนในรายวิชาที่ต้องใช้ภาษาอังกฤษในการสอนอย่างน้อยร้อยละ 10เสนอแนะให้มีการจัดตั้งกลุ่มคณะกรรมการทำงาน เพื่อหาข้อสรุปในการจัดการเรียนการสอน และการพัฒนาอาจารย์ผู้สอน   

๓. การจัดระบบอาจารย์ที่ปรึกษาและผลการดำเนินงาน -             
    ๓.๑ การจัดอาจารย์ที่ปรึกษา ในปัจจุบันคณะฯ ได้จัดให้อาจารย์ รับผิดชอบดูแลนิสิตชั้นปีเดียวกัน  ประมาณ๑๒-๒๐ คน ต่อ อาจารย์ ๑ คน ควรมีการจัดกลุ่มนิสิตคละกัน เพื่อให้มีความหลากหลาย และอาจารย์สามารถทราบข้อมูลนิสิตด้วยระบบฐานข้อมูลของคณะฯ และของมหาวิทยาลัย ประเด็นสำคัญเกี่ยวกับอาจารย์ที่ปรึกษามีดังต่อไปนี้ 
             ๑) มีหน้าที่ดูแลเรื่องการลงทะเบียนของนิสิต 
             ๒) ควรจัดเวลาให้กับนิสิตที่ปรึกษา โดยใช้วันพฤหัสบดี ช่วงบ่ายซึ่งเป็นช่วงเวลาว่างของนิสิต 
            ๓)   ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาแก่นิสิต ในกรณีเรื่องการเรียนให้ประสานงานกับรองคณบดีฝ่ายวิชาการ  และในกรณีปัญหาการพฤติกรรมและอื่นๆให้ประสานงานกับรองคณบดีฝ่ายพัฒนานิสิต 
            ๔)   การประเมินอาจารย์ที่ปรึกษาโดยนิสิต  ให้จัดมีการประเมินปีละ 1 ครั้ง เพื่ออาจารย์ที่ปรึกษาจะได้รับข้อมูลการให้คำปรึกษา เพื่อนำมาปรับปรุงและพัฒนาต่อไป และให้นำไปประเมินในระบบมหาวิทยาลัยทางอินเตอร์เน็ต 
             ๕)   ข้อเสนอแนะอื่นๆ จากที่ประชุม 
                     -  การใช้ฐานข้อมูลเกี่ยวกับข้อมูลของนิสิต ควรมีความแตกต่างกันระหว่าง ระหว่างอาจารย์ที่ปรึกษา และอาจารย์ทั่วไป
                     -  การจัดระบบอาจารย์ที่ปรึกษา ควรเป็นนิสิตชั้นปีเดียวกัน เพราะนิสิตมีระบบการเรียนที่เหมือนกัน และทำให้สามารถดูแลนิสิตได้อย่างทั่วถึง 
                    -   การคิดอัตราส่วนของอาจารย์ที่ปรึกษา ควรนำมาจัดแบ่งสัดส่วนอาจารย์ที่ปรึกษามีความเหมาะสม  ทั้งอาจารย์ที่สอนปริญญาตรี โท และเอก 
                    -   ในกรณีที่นิสิตมีปัญหา เกินกว่าความสามารถของอาจารย์ที่ปรึกษา คณะฯ ควรมีการการแต่งตั้งคณะกรรมการที่มีความสามารถ ประกอบด้วย ตัวแทนของกลุ่มอาจารย์ที่มีความเชี่ยวชาญในปัญหานั้นๆของนิสิต รองคณบดีฝ่ายวิชาการ รองคณบดีฝ่ายพัฒนานิสิต และให้คณบดี เป็นประธาน   

 ๔. การทวนสอบและการบริหารจัดการระบบข้อมูลภายหลังทวนสอบ 
    ๔.๑ การทวนสอบรายวิชา ๑๐๗๒๑๐ ทฤษฎีทางการพยาบาล (ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภาวนากีรติยุตวงศ์) อาจารย์ผู้สอนมีการดำเนินการดังนี้ 
            ๑) การวางแผนก่อนการจัดการเรียนการสอน โดยมีการประชุมอาจารย์ผู้สอนร่วมกัน เพื่อให้มีความเข้าใจตรงกัน เกี่ยวกับเรื่องวัตถุประสงค์ คำอธิบายรายวิชา และผลการเรียนรู้ 
            ๒) เขียนวัตถุประสงค์ของวิชาให้สอดคล้องกับมาตรฐานการเรียนรู้ของรายวิชา 
             ๓) กำหนดกิจกรรมการเรียนการสอน ตามมาตรฐานการเรียนรู้ 
             ๔) ออกแบบแบบประเมินผลการเรียนรู้ โดยให้ครอบคลุมตามมาตรฐานการเรียนรู้ 
    ๔.๒ การทวนสอบรายวิชา ๑๐๖๒๐๑ การพยาบาลสุขภาพจิตและจิตเวช ๑ ( อาจารย์นุชนาถ แก้วมาตร) อาจารย์ผู้สอนมีการดำเนินการดังนี้ 
            ๑ ) ประชุมอาจารย์ผู้รับผิดชอบวิชา ชี้แจงการจัดการเรียนการสอนที่สอดคล้องของรายวิชา 
             ๒) กำหนดผู้สอนในหัวข้อของวิชา โดยเฉพาะผู้สอนเนื้อหาเป็นภาษาอังกฤษร้อยละ ๑๐ 
            ๓) เตรียมเอกสารที่สำคัญตั้งแต่เริ่มสอน เช่น มคอ.๓ เขียนกิจกรรมและวัตถุประสงค์ การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับมาตรฐานการเรียนรู้ 
            ๔) เก็บรายงานและผลงานของนิสิตทุกคน เนื่องจากเพื่อป้องกันความลำเอียงจากการตรวจสอบ ผลการเรียนของนิสิต   ประเด็นปัญหา เก็บงานปริมาณมากเกิน ทำให้เป็นภาระสำหรับอาจารย์ 
        ข้อเสนอแนะจากที่ประชุม 
            ๑.   ให้เก็บงานทุกชิ้นของนิสิตไว้ร้อยละ ๕ ตามที่สุ่มได้ตั้งแต่ต้น ถ้าต้องการคืนงานให้แก่นิสิต อาจารย์สามารถถ่ายเอกสารไว้ โดยใช้งบประมาณจากฝ่ายวิชาการ 
             ๒.   ภายหลังการทวนสอบต้องเก็บงานทุกชิ้นของนิสิตเพียง ๑-๒  รายโดยสามารถถ่ายเอกสารจากฝ่ายวิชาการ 
             ๓.   การเก็บหลักฐานจะเก็บไว้ที่งานประกันคุณภาพเป็นระยะเวลา ๕  ปี   

๕.ประสบการณ์การจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษในรายวิชาชีพพยาบาล 
    ๕.๑ รายวิชา ๑๐๖๒๐๑ การพยาบาลสุขภาพจิตและจิตเวช ๑ (ผู้ช่วยศาสตราจารย์ดร.ภรภัทร เฮงอุดมทรัพย์) รายวิชา ๑๐๖๒๐๑ การพยาบาลสุขภาพจิตและจิตเวช 
            ๑ มีการจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ ๑๐% ของรายวิชาดังนี้  การจัดทำแผนการสอน  การสอน และ การออกข้อสอบเป็นภาษาอังกฤษ ผู้สอนใช้เทคนิคในการจัดการเรียนการสอน ดังนี้ 
                - เริ่มต้นด้วยการเสริมสร้างความมั่นใจ ทั้งผู้สอนและผู้เรียนเกี่ยวกับการสอนภาษาอังกฤษ
                 - ผู้สอนมีการใช้สื่อต่างๆ  การให้กำลังใจและส่งเสริมให้นิสิตกล้าพูด
                 - ใช้บรรยากาศที่ผ่อนคลายให้โอกาส ให้กำลังใจ - ใช้ภาษาง่ายๆ และไม่มากจนเกินไป 
                 - จัดทำ Power point ภาษาอังกฤษ และเอกสารประกอบการสอนเป็นภาษาไทย 
    ๕.๒ รายวิชา๑๐๒๒๐๑การพยาบาลมารดา-ทารกและการผดุงครรภ์ ๑ (อ.ดร.วรรณทนา ศุภสีมานนท์) รายวิชา ๑๐๒๒๐๑ การพยาบาลมารดา
                -ทารกและการผดุงครรภ์ ๑มีการจัดการเรียนการสอน ภาษาอังกฤษ ๑๐% ของรายวิชาโดยเลือกสอนในหัวข้อที่ง่ายไม่ซับซ้อน ปฏิกิริยาของผู้เรียน คือ นิสิตไม่คุ้นเคยกับสำเนียงของผู้สอนและไม่เข้าใจในเนื้อหาที่สอนดังนั้นผู้สอนจึงมีการใช้เทคนิคต่าง ๆ การใช้ เพื่อให้บรรยากาศผ่อนคลายในการสอนดังนี้ 
                 -อาจารย์ผู้สอนปรับตัวโดยการไม่คาดหวังผู้เรียนมากจนเกินไป 
                 - การสอนโดยใช้ ๒ ภาษาควบคู่กันโดยใส่คำสำคัญ
                 - การใช้ภาพประกอบมากขึ้นเพื่อช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจ 
                  - การเริ่มต้นด้วยคำศัพท์ - นิสิตสามารถสอบถามเป็นภาษาไทยได้ หลังการจัดการเรียนการสอนพบว่า
                  - นิสิตมีทัศนคติต่อภาษาอังกฤษดีขึ้น 
                 -  นิสิตเสนอให้อาจารย์พยาบาลเป็นผู้สอนรายวิชา ภาษาอังกฤษสำหรับพยาบาล
    ๕.๓ รายวิชา ๑๐๗๑๐๑ การสร้างเสริมสุขภาพแบบองค์รวม ( ผู้ช่วยศาสตร์สุวรรณี มหากายนันท์) รายวิชา ๑๐๗๑๐๑ การสร้างเสริมสุขภาพแบบองค์รวมมีการจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ ๑๐% ของรายวิชาโดยการมอบหมายงานให้นิสิตเป็นงานกลุ่มตั้งแต่ต้นเทอม สืบค้นบทความ งานวิจัยภาษาอังกฤษที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมพฤติกรรมสุขภาพในแต่ละบทเรียน มอบหมายให้นิสิตแปลและอภิปรายนำเสนอในชั้นเรียนเป็นภาษาอังกฤษ 
        ผลการจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ 
                -การจัดกิจกรรมการเรียนในบางกลุ่มผู้เรียนค่อนข้างขาดทักษะทางด้านภาษา ผู้สอนต้องสรุปให้ค่อนข้างมาก บางกลุ่มจัดได้ค่อนข้างดีมีความสนุกสนาน และอภิปรายเป็นภาษาอังกฤษง่ายๆ
๕.๔ ข้อเสนอแนะจากที่ประชุม 
         ๑) วัตถุประสงค์การจัดการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษเพื่อ เพิ่มศักยภาพของนิสิตในด้านการใช้ภาษาอังกฤษพื้นฐานในระดับ เน้นทักษะการอ่าน การฟัง 
        ๒) ลักษณะและเวลาการจัดจัดการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษให้ครบร้อยละ ๑๐ ของจำนวนชั่วโมงของรายวิชา ทั้งนี้สามารถปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสมของแต่ละวิชา
        ๓)   คณะฯ ควรมีการเตรียมความพร้อมของอาจารย์ผู้สอน ในด้านทักษะและความสามารถทางภาษาอังกฤษข รวมทั้งมีการทดสอบความสามารถของผู้สอนว่ามีทักษะหรือความสามารถเพียงพอที่จะสอนภาษาอังกฤษ เช่น  BUU test  การจัดสรรงบประมาณเพื่อจัดซื้อ พจนานุกรมศัพท์ภาษาอาเซียน 
         ๔)   คณะฯ ควรมีการจัดกิจกรรมเสริมสร้างทักษะด้านภาษาอังกฤษสำหรับนิสิต เช่น จัดงานวั English Day  การทำกิจกรรมร่วมกับชาว Scandinavian ให้ทุนในการทำกิจกรรมเพื่อพัฒนาภาษาอังกฤษสำหรับนิสิต   

 ๖. การประเมินผลการเรียนรู้ของรายวิชาตามแผนที่กระจายความรับผิดชอบต่อผลการเรียนรู้จากหลักสูตรสู่รายวิชา (Curriculum Mapping) ของรายวิชา ( ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นฤมล ธีระรังสิกุล  ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สุวรรณี มหากายนันท์ และอาจารย์ตระกูลวงศ์ ฦาชา) 
        ๖.๑ การจัดการเรียนการสอนรายวิชา ๑๐๓๒๐๒ การพยาบาลผู้ใหญ่ ๒ของกลุ่มวิชาการพยาบาลผู้ใหญ่โดยการสร้างตารางการกระจายการจัดกิจกรรมการเรียนในแต่ละบทเรียนทุกบทโดยละเอียดและมีการประเมินกิจกรรมต่างๆ โดยแบ่งสัดส่วนการให้คะแนนกระจายตามการประเมินผลการเรียนรู้ของรายวิชาตามแผนที่กระจายความรับผิดชอบต่อผลการเรียนรู้จากหลักสูตรโดยในรายวิชาทฤษฎีจะมี ต้องมีการจัดการเรียนการสอนคลอบคลุมทั้ง ๕ Domains 
         ๖.๒ การจัดการเรียนการสอนรายวิชา ๑๐๑๒๐๔ ปฏิบัติการพยาบาลชุมชน ๑ ของกลุ่มวิชาการพยาบาลชุมชนโดยมีการจัดทำแบบประเมินแต่ละกิจกรรมการเรียนรู้และแบ่งสัดส่วนคะแนนครอบคลุม ๖ Domainsทั้งนี้ กลุ่มวิชาการพยาบาลชุมชนได้พัฒนาระบบประเมินผลการเรียนรู้ Evaluation of Learning System ร่วมกับเจ้าหน้าที่คอมพิวเตอร์ของคณะพยาบาลศาสตร์ โดยอาจารย์สามารถเข้าสู่ระบบและกำหนดสัดส่วนคะแนนและประเมินผลการเรียนรู้ของนิสิตโดยระบบจะแสดงผลการประเมินผลการเรียนรู้ ครอบคลุมทุก Domain การเรียนรู้แบบเรียลไทม์ ซึ่งอยู่ในระหว่างการพัฒนาระบบ 

๗. การประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนภาคทฤษฎี 
    ๗.๑ การตัดเกรดในรายวิชาชีพ นิสิตต้องได้ต่ำกว่า C ถ้านิสิตได้เกรดต่ำกว่า C นิสิตต้องลงทะเบียนเรียนใหม่ 
    ๗.๒  การกำหนดน้ำหนักการประเมินในรายวิชาทฤษฎี การกำหนดน้ำหนักรายวิชาทฤษฎี  ๑๐๐ % ควรแบ่งน้ำหนักการประเมินดังนี้ 
            ๑) น้ำหนักคะแนนความรู้ (Core Knowledge)  (สอบกลางภาค สอบปลายภาค, สอบย่อย) ให้น้ำหนักคะแนนความรู้ไม่ต่ำกว่า ๖๐ หน่วยน้ำหนัก 
            ๒) น้ำหนักคะแนนการมีส่วนร่วม (การมีกิจกรรมในห้อง งานที่มอบหมายฯ งานกลุ่ม งานเดี่ยว)  ให้น้ำหนักคะแนนการมีส่วนร่วมไม่เกิน  ๔๐ หน่วยน้ำหนัก 
            ๓ )การกำหนดเกณฑ์สอบผ่านได้เกรด C ให้ ใช้ทั้งคะแนนสอบและคะแนนจากกิจกรรมรวมกันโดย 
                     - ให้คะแนนความรู้ผ่านเกณฑ์ที่กำหนด คือ ร้อยละ ๕๐ กรณีที่นิสิตสอบไม่ผ่านร้อยละ ๕๐ ของการสอบแต่ละครั้ง ให้มีการสอบซ่อมได้ ๑ ครั้งของการสอบครั้งนั้นๆ (เช่น กรณีสอบ ๒ ครั้ง สอบซ่อม midterm ได้ ๑ ครั้ง  และสอบซ่อม final ได้ ๑ ครั้ง เป็นต้น)
                     - การตัดเกรดให้ใช้คะแนนรวมของคะแนนความรู้(คะแนนเดิม) และคะแนนการมีส่วนร่วม ต้องได้มากกว่าหรือเท่ากับร้อยละ ๖๐ และ ซึ่งอาจใช้ทั้งอิงเกณฑ์และอิงกลุ่ม 
            ๔) รูปแบบของการซ่อม ขึ้นอยู่กับลักษณะและเนื้อหาของรายวิชา ที่แต่กลุ่มวิชาจะกำหนดตามความเหมาะสม อาจใช้ข้อสอบเดิม ข้อสอบคู่ขนาน  ข้อสอบอัตนัย การมอบหมายงานที่ตรงกับเนื้อหาที่นิสิตสอบไม่ผ่าน หรือสอบปากเปล่าเฉพาะประเด็นที่สำคัญฯ 

๘. ข้อเสนอแนะอื่น ๆ เกี่ยวกับการเรียนการสอน 
        -  กรณีที่นิสิตลาออก ฝ่ายวิชาการควรมีระบบการแจ้งให้ผู้ผู้สอนทราบด้วย 
        -  ฝ่ายวิชาการและฝ่ายกิจการนิสิต ควรจัดให้มีกิจกรรมพบนิสิต ๑-๒ กิจกรรม/ภาคการศึกษา 
        -  การเก็บเอกสารสำคัญของคณะฯ หรือข้อสอบ ควรใช้ระบบการ  Scan เอกสารเก็บไว้โดย 
        -  มอบหมายผู้รับผิดชอบโดยเฉพาะ สำหรับเอกสารสำคัญที่ต้องทำลายเสนอให้มีการกำจัดโดยเจ้าหน้าที่ห้องสำเนาข้อสอบโดยปิดห้องและห้ามนิสิตเข้า 

๙.การเตรียมอาจารย์ใหม่ มีแนวปฏิบัติดังนี้ ๙.๑ รายวิชาภาคทฤษฎี และ การปฏิบัติในห้องปฏิบัติการ
คุณสมบัติระยะเวลากิจกรรม
๑.  อาจารย์จบการศึกษาระดับปริญญาโท และมีประสบการณ์การสอนทางการพยาบาลมาแล้วอย่างน้อย ๑ ปี ในสถาบันการศึกษาที่สภาการพยาบาลรับรอง๑ ภาคการศึกษา๑. สังเกตการสอน   ๒. ร่วมสอนโดยมีอาจารย์พี่เลี้ยงดูแล ๓. เมื่อผ่านการประเมินสามารถ สอนได้ในภาคการศึกษาต่อไป
๒.  อาจารย์จบการศึกษาระดับปริญญาโท และมีประสบการณ์การสอนสาขาอื่น ๆ มาแล้วอย่างน้อย ๑ ปี๖ เดือน๑. สังเกตการสอน   ๒. ฝึกสอนในวิชาทางการพยาบาล โดยมีอาจารย์พี่เลี้ยงดูแลอย่างใกล้ชิด ๓. เมื่อผ่านการประเมินสามารถร่วมสอน/ สอนได้ในภาคการศึกษาถัดไป
๓. อาจารย์จบการศึกษาระดับปริญญาโท และไม่มีประสบการณ์การสอนทางการพยาบาล๑ ปี๑. สังเกตการสอน ๑ ภาคการศึกษา ๒. ฝึกสอนและร่วมสอนในวิชาทางการพยาบาลโดยมีอาจารย์พี่เลี้ยงดูแล อย่างใกล้ชิดในภาคศึกษาถัดไป๓. เมื่อผ่านการประเมินสามารถร่วมสอน/ สอนได้ในภาคการศึกษาถัดไป
๔.  อาจารย์จบการศึกษาระดับปริญญาเอก และมีประสบการณ์การสอนทางการพยาบาลมาแล้วอย่างน้อย ๑ ปี ในสถาบันการศึกษาที่สภาการพยาบาลรับรอง๑ ภาคการศึกษา๑. สังเกตการสอน   ๒. ร่วมสอนโดยมีอาจารย์พี่เลี้ยงดูแล ๓. เมื่อผ่านการประเมินสามารถ สอนได้ในภาคการศึกษาถัดไป
๕.  อาจารย์จบการศึกษาระดับปริญญาเอก และมีประสบการณ์การสอนสาขาอื่น ๆ มาแล้วอย่างน้อย ๑ ปี๑ ภาคการศึกษา๑. สังเกตการสอน   ๒. ฝึกสอนในวิชาทางการพยาบาล โดยมีอาจารย์พี่เลี้ยงดูแลอย่างใกล้ชิด ๓. เมื่อผ่านการประเมินสามารถร่วมสอน/ สอนได้ในภาคการศึกษาถัดไป
๖.  อาจารย์จบการศึกษาระดับปริญญาเอก และไม่มีประสบการณ์การสอนทางการพยาบาล2 ภาคการศึกษา๑. สังเกตการสอนใน ๑ ภาคการศึกษา   ๒. ฝึกสอนและร่วมสอนในวิชาทางการพยาบาลโดยมีอาจารย์พี่เลี้ยงดูแล อย่างใกล้ชิดในภาคการศึกษาถัดไป ๓. เมื่อผ่านการประเมินสามารถร่วมสอน/ สอนได้ในภาคการศึกษาถัดไป
หมายเหตุ  ทุกกรณีต้องมีการแต่งตั้งอาจารย์พี่เลี้ยงหลักจากคณบดี ตามช่วงระยะเวลาที่กำหนด
๙.๒ รายวิชาภาคปฏิบัติ
คุณสมบัติระยะเวลากิจกรรม
๑.  สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทหรือปริญญาเอกที่ไม่มีประสบการณ์ทางคลินิกในสาขาวิชาที่สอน หรือมีประสบการณ์ทางคลินิกน้อยกว่า ๑ ปี๑ ภาคการศึกษา๑. สังเกตการนิเทศ  ๒. ร่วมนิเทศโดยมีอาจารย์พี่เลี้ยงดูแล ๓. เมื่อผ่านการประเมินสามารถนิเทศในภาคการศึกษาถัดไป
๒. สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทหรือปริญญาเอกที่มีประสบการณ์ทางคลินิกในสาขาวิชาที่สอน มากกว่า ๑ ปี แต่ไม่มีประสบการณ์การสอนในคลินิกภายใน ๑ ภาคการศึกษา๑. สังเกตการนิเทศ อย่างน้อย ๑ กลุ่ม (ตามหน่วยกิตของรายวิชา)  ๒. ร่วมนิเทศโดยมีอาจารย์พี่เลี้ยงดูแล ๓. เมื่อผ่านการประเมินสามารถนิเทศในกลุ่มถัดไป
๓. สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทหรือปริญญาเอกที่มีประสบการณ์ทางคลินิกในสาขาวิชาที่สอนและประสบการณ์การสอนในคลินิก มากกว่า ๑ ปีภายใน ๑ ภาคการศึกษา๑. ร่วมนิเทศอย่างน้อย ๑ กลุ่ม โดยมีอาจารย์พี่เลี้ยงดูแล   ๒. เมื่อผ่านการประเมินสามารถนิเทศในกลุ่มถัดไป
หมายเหตุ  ทุกกรณีต้องมีการแต่งตั้งอาจารย์พี่เลี้ยงหลักจากคณบดี ตามช่วงระยะเวลาที่กำหนด

วันจันทร์ที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

คู่มือเยาวชนช่วยชีวิตสมาชิกครอบครัวและชุมชนได้

               คู่มือการปฐมพยาบาลในครัวเรือนสำหรับเยาวชน "เยาวชนช่วยชีวิตสมาชิกครอบครัวและชุมชนได้" นี้จัดทำขึ้นเพื่อประกอบการอบรมในโครงการเยาวชนช่วยชีวิตสมาชิกครอบครัยและชุมชนได้ ซึ่งดำเนินการโดยสาขาวิชาการพยาบาลชุมชน คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 ต่อเนื่องกันมาทุกปี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่ออบรมเยาวชนมีความรู้และทักษะในการช่วยชีวิตและปฐมพยาบาลบื้องต้นกรณีฉุกเฉินในครัวเรือนหรือในชุมชน เพื่อให้ผู้ประสบภัยมีความปลอดภัยก่อนที่จะไปรับการรักษาในหน่วยบริการที่เหมาะสมต่อไป


              นอกจากนี้ คณะผู้จัดทำคาดหวังว่าคู่มือนี้จะเป็นประโยชน์สำหรับเยาวชนในโรงเรียนต่างๆ ได้ศึกษาด้วยตนเอง จึงจัดทำให้มีสารถง่ายๆ ที่เด็กๆๆ หรือเยาวชนจะสามารถอ่านทำความเข้าใจและใช้เป็นแนวปฏิบัติต่อไป โดยสามารถดูรายละเอียด

วันพุธที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

การสูบบุหรี่ของวัยรุ่น

                การสูบบุหรี่ยังคงเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญในสังคมไทย โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่นที่อัตราการสูบบุหรี่ยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น การสูบบุหรี่มักเริ่มต้นในช่วงที่เป็นวัยรุ่น วัยรุ่นที่เริ่มต้นสูบบุหรี่ตั้งแต่อายุยังน้อยจะมีโอกาสกลายเป็นผู้ใหญ่ที่ติดบุหรี่สูงและมีโอกาสเลิกสูบบุหรี่ได้ยาก จากการศึกษาวิจัยของพรนภา หอมสินธุ์และรุ่งรัตน์ ศรีสุริยเวศน์ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพาที่ผ่านมาเกี่ยวกับการสูบบุหรี่ของวัยรุ่นไทย สรุปได้ว่าการสูบบุหรี่เป็นพฤติกรรมที่มีความซับซ้อนซึ่งมีพัฒนาการผ่านไปตามลำดับขั้นต่างๆ โดยสามารถแบ่งการสูบบุหรี่ของวัยรุ่นออกได้เป็น 4 กลุ่มตามลำดับขั้นการสูบบุหรี่ คือ
               1) กลุ่มมั่นใจว่าจะไม่สูบบุหรี่ ได้แก่ผู้ที่ไม่เคยสูบบุหรี่และมั่นใจว่าตนจะไม่สูบบุหรี่แน่นอนถึงแม้จะถูกชักชวนก็ตาม
               2) กลุ่มลังเลใจ ได้แก่ผู้ไม่เคยสูบบุหรี่แต่ยังไม่แน่ใจว่าจะสามารถปฏิเสธการสูบบุหรี่ได้หากถูกชักชวน
               3) กลุ่มทดลองสูบบุหรี่ ได้แก่ผู้ที่เคยทดลองสูบบุหรี่เพียงไม่กี่มวนเท่านั่นในชีวิต
               4) กลุ่มสูบตามโอกาส ได้แก่ ผู้ที่สูบเป็นครั้งคราวตามโอกาสต่างๆเช่น เมื่อมีงานเลี้ยงฉลอง ไปเที่ยว และ
               5) กลุ่มสูบประจำ ได้แก่ ผู้ที่สูบบุหรี่อย่างสม่ำเสมอทุกสัปดาห์หรือเกือบทุกวัน โดยมีเพียงประมาณครึ่งหนึ่งของวัยรุ่นเท่านั้นที่มั่นใจว่าตนจะไม่สูบบุหรี่แน่นอน ส่วนที่เหลือกระจายอยู่ในกลุ่มต่างๆซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มที่มีโอกาสเสี่ยงสูงที่จะสูบและและได้สูบบุหรี่แล้ว
              นอกจากนี้ข้อค้นพบที่สำคัญคือ พบว่าปัจจัยที่มีความเกี่ยวข้องกับการสูบบุหรี่มีหลายปัจจัยทั้งที่เป็นปัจจัยเสี่ยงและปัจจัยป้องกัน ได้แก่ เพศ ผลสัมฤทธ์ทางการเรียน ทัศนคติต่อการสูบบุหรี่ การสูบบุหรี่ของเพื่อน การถูกชักชวนให้สูบบุหรี่ ความผูกพันกับครอบครัวและโรงเรียน โดยปัจจัยต่างๆดังกล่าวมีบทบาทไม่เหมือนกันเมื่ออยู่ในลำดับขั้นการสูบบุหรี่ที่แตกต่างกัน แต่อย่างไรก็ตามปัจจัยที่สำคัญที่สุดเนื่องจากพบได้ในทุกลำดับขั้นของการสูบบุหรี่คือทัศนคติต่อการสูบบุหรี่และการถูกชักชวนให้สูบบุหรี่
              ในการแก้ปัญหาการสูบบุหรี่ในวัยรุ่นให้มีประสิทธิภาพจึงควรเน้นการป้องกันตั้งแต่ในระยะแรกๆของการสูบบุหรี่ที่ยังไม่ได้เริ่มต้นสูบบุหรี่ โปรแกรมที่สร้างขึ้นควรมีความหลากหลายและมีความเฉพาะเจาะจงกับปัจจัยที่พบในแต่ละลำดับขั้นของการสูบบุหรี่ซึ่งอาจมีความแตกต่างกันในวัยรุ่นแต่ละคน โดยให้ความสำคัญในการปรับเปลี่ยนทัศนคติต่อการสูบบุหรี่รวมทั้งการเสริมสร้างศักยภาพของวัยรุ่นให้มีทักษะการปฏิเสธ