สรุปเนื้อหาการจัดการความรู้
“เสวนาวิจัย Miniseries: Episode III” ครั้งที่ ๒
เรื่อง “ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อกลุ่มอาการหลังผ่าตัดในผู้ที่ได้รับการผ่าตัดช่องท้อง”
Factors Influencing Postoperative Symptom Clusters Among Persons Undergone Abdominal Surgery
วิทยากรโดย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุภาภรณ์ ด้วงแพง
วันอังคารที่ ๒๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๖ เวลา ๑๕.๓๐ - ๑๗.๓๐ น.
ณ ห้องประชุมนพรัตน์ฯ ชั้น ๖ คณะพยาบาลศาสตร์
สรุปเนื้อหาที่ได้จากการเสวนา
กลุ่มอาการหลังการผ่าตัดช่องท้อง นอกจากจะส่งผลให้ผู้ที่ได้รับการผ่าตัดทุกข์ทรมานแล้ว ยังส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อน การฟื้นสภาพล่าช้าและมีข้อจำกัดในการปฏิบัติหน้าที่ การวิจัยนี้เป็นการวิเคราะห์ข้อมูลทุติยภูมิ เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อกลุ่มอาการหลังผ่าตัดช่องท้อง กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ที่ได้รับการผ่าตัดช่องท้อง จำนวน 150 ราย เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้ แบบบันทึกข้อมูลทั่วไป แบบประเมินภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัด และแบบประเมินอาการหลังผ่าตัดช่องท้อง วิเคราะห์ข้อมูลทั่วไปโดยใช้สถิติพรรณนา สถิติการวิเคราะห์ปัจจัย (Factor analysis) และการวิเคราะห์ถดถอยพหุคูณแบบขั้นตอน
ผลการวิจัยพบว่า ในแต่ละวันของวันที่ 1, 3 และ 5 หลังการผ่าตัด มีกลุ่มอาการเกิดขึ้น 2 กลุ่มอาการ ในวันที่ 1 หลังผ่าตัด 2 กลุ่มอาการคือ 1) อาการปวดแผลผ่าตัด อาการท้องอืด อาการอ่อนล้า และ 2) อาการวิตกกังวล และนอนไม่หลับ โดยปัจจัยที่ทำนายกลุ่มอาการแรก คือ ขนาดของแผล และชนิดของการผ่าตัด (Beta= .236 และ .179 ตามลำดับ; R2 = 8.9) และไม่มีปัจจัยใดที่สามารถทำนายกลุ่มอาการที่ 2
กลุ่มอาการที่เกิดขึ้นในวันที่ 3 หลังผ่าตัด คือ 1) อาการปวดแผลผ่าตัด อาการท้องอืด อาการอ่อนล้า และอาการนอนไม่หลับ และ 2) อาการวิตกกังวลและคลื่นไส้อาเจียน โดยปัจจัยที่ทำนายกลุ่มอาการแรก คือขนาดของแผลผ่าตัด ภาวะแทรกซ้อน และชนิดของการผ่าตัด (Beta =.338, .242 และ .213 ตามลำดับ; R2 = 23.0 ) และปัจจัยที่สามารถทำนายกลุ่มอาการที่ 2 คือ อายุ (Beta = .279; R2 = 7.8)
กลุ่มอาการที่เกิดขึ้นในวันที่ 5 หลังผ่าตัด คือ 1) อาการปวดแผลผ่าตัด ท้องอืด อ่อนล้าหลังการผ่าตัด และ 2) อาการวิตกกังวล นอนไม่หลับ โดยปัจจัยที่สามารถทำนายกลุ่มอาการแรก คือ ขนาดของแผลผ่าตัด (Beta =.282; R2 = 8.0) และปัจจัยที่สามารถทำนายกลุ่มอาการที่ 2 คือขนาดของแผลผ่าตัด และระยะเวลาในการผ่าตัด (Beta = .286 และ .226 ตามลำดับ; R2 = 19.1)
ผลการวิจัยนี้สามารถใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานเพื่อพัฒนาแนวทางการจัดการกลุ่มอาการหลังผ่าตัดสำหรับผู้ที่ได้รับการผ่าตัดช่องท้องที่มีประสิทธิภาพ และการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มอาการหลังผ่าตัดช่องท้องต่อไปการวิจัยนี้ เป็นศึกษาตามแนวคิดและทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับการจัดการกลุ่มอาการ (Symptom Clusters) ซึ่งชี้ให้เห็นว่า อาการของที่เกิดขึ้นมักไม่ได้เกิดเพียงอาการเดียว แต่สามารถเกิดได้มากกว่า ๑ อาการ นั่นหมายถึงอาจจะมีอาการอื่นๆ เกิดขึ้นร่วมกันเสมอ จึงส่งผลให้การจัดการอาการมีความยุ่งยาก หรือไม่ประสบผลสำเร็จ ดังนั้นจึงควรให้ความสำคัญกับกลุ่มอาการที่เกิดขึ้นร่วมกันเพื่อหาแนวทางในการจัดการกับกลุ่มอาการดังกล่าว
การเผยแพร่ :
๑. แจกจ่ายเอกสารสรุปเนื้อหาการเสวนา ยังคณาจารย์ทุกท่านของคณะพยาบาลศาสตร์ และนิสิตที่เข้าร่วมเสวนาวิจัยฯ
๒. เผยแพร่สรุปเนื้อหาทาง เว็ปไซต์ http://nurse.buu.ac.th/BgKM/ การจัดการความรู้ของคณะพยาบาลศาสตร์
๓. สรุปผลการดำเนินกิจกรรมในแฟ้มการจัดการความรู้ ฝ่ายวิจัยฯ คณะพยาบาลศาสตร์ สามารถขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายวิจัยฯ ห้อง N๑๐๑ หรือ โทร. ๒๘๒๓
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น