วันจันทร์ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

การจัดการความรู้ เรื่อง "Sampling: การได้มาซึ่งกลุ่มตัวอย่าง"



๑. ประชากร (Population) คือ กลุ่มของสิ่งที่ต้องการศึกษาทั้งหมด ประกอบด้วย หน่วยย่อยๆ หรือหน่วยวิเคราะห์ (Unit of Analysis) ที่รวมเป็นกลุ่มข้อมูล เช่น ประชาชนทั่วไป ผู้สูงอายุ ครอบครัว องค์กรชุมชน โต๊ะ เก้าอี้ ฯลฯ

๒. กลุ่มตัวอย่าง (Sample) คือ กลุ่มย่อยของประชากรที่ใช้ศึกษาแทนประชากร ทั้งนี้การกำหนดขนาดตัวอย่างที่เหมาะสม และใช้วิธีการเพื่อให้ได้มาซึ่งกลุ่มตัวอย่างที่ดี ผลการศึกษาในกลุ่มตัวอย่างก็จะแตกต่างกับการศึกษาในประชากรไม่มากนัก อันเป็นการประหยัดทรัพยากรในการทำวิจัย

๓. การได้มาซึ่งกลุ่มตัวอย่าง แบ่งได้เป็น ๒ ประเภท คือ (๑) การได้มาซึ่งกลุ่มตัวอย่างแบบสุ่ม (randomization) หรือโดยอาศัยความน่าจะเป็น (probability random sampling) กับ (๒) การได้มาโดยไม่สุ่ม (non-randomization) หรือไม่อาศัยความน่าจะเป็น (non-probability random sampling)

๔. การสุ่มตัวอย่างในการวิจัยเชิงทดลอง (Experimental Research) สิ่งที่ต้องคำนึงถึงในการวิจัยเชิงทดลองได้แก่
            - ความตรงภายใน (Internal Validity) เป็นความน่าเชื่อถือของผลของสิ่งทดลอง ซึ่งขึ้นอยู่กับการมีกลุ่มควบคุมการจัดสรรกลุ่มโดยการสุ่ม (random assignment/ allocation) การควบคุมปัจจัยอื่น ที่อาจมีอิทธิพลผลการทดลอง ฯลฯ
            - ความตรงภายนอก (External Validity) เป็นความน่าเชื่อถือของผลการวิจัยที่จะนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป ขึ้นกับการได้มาซึ่งกลุ่มตัวอย่างหรือการสุ่มตัวอย่างเพื่อแทนประชากรทั้งหมด (random sampling) เป็นสำคัญ หากกลุ่มตัวอย่างไม่สามารถแทนประชากรได้การนำผลการวิจัยไปใช้ในประชากรก็อาจไม่ได้ผลเหมือนขณะที่ทำการวิจัย
            ดังนั้น การวิจัยที่ดีควรมีการสุ่มตัวอย่างที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการวิจัยเชิงทดลองหรือกึ่งทดลองควรมีการสุ่มตัวอย่าง หรือได้กลุ่มตัวอย่างมาโดยอาศัยความน่าจะเป็น ซึ่งจะทำให้ผลการวิจัยสามารถบอกผลของสิ่งทดลอง สามารถอ้างอิงไปยังประชากรได้ (ด้วยวิธีการ และ เครื่องมือเดียวกัน) และสามารถนำสิ่งทดลองไปใช้ประโยชน์ในประชากรต่อไปได้ การศึกษาในกลุ่มตัวอย่างที่ไม่ได้สุ่มตัวอย่าง หรือการศึกษาในกลุ่มประชากรที่มีลักษณะเฉพาะมาก (ด้วยเหตุที่นักวิจัยคิดว่ามีจำนวนน้อยไม่สามารถสุ่มตัวอย่างได้) ผลการวิจัยก็จะตอบเฉพาะในกลุ่มที่ศึกษาไม่สามารถอ้างอิงไปยังประชากรได้
            นอกจากนี้ในหลักของการพิจารณาจริยธรรมในการวิจัย การสุ่มตัวอย่าง (randomization) เป็นวิธีหนึ่งที่ทำให้เกิดความยุติธรรมกับกลุ่มตัวอย่างที่ศึกษา เป็นการลดความลำเอียง (bias) ที่อาจเกิดขึ้นได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น