องค์ความรู้เกี่ยวกับการคลอดธรรมชาติ ได้จากวิจัยเชิงคุณภาพเรื่องกระบวนการเผชิญการคลอดของหญิงไทย ผู้ให้ข้อมูลเป็นคุณแม่ครรภ์แรกจำนวน 20 คน ที่คลอดโดยไม่เคยผ่านการสอนเตรียมตัวคลอดและไม่ได้รับการดูแลเป็นพิเศษ ทำการสัมภาษณ์เชิงลึกอย่างน้อย 2 ครั้ง ทำให้เข้าใจว่า คุณแม่ทำอย่างไรเพื่อให้ผ่านการคลอดได้ ข้อค้นพบจากงานวิจัยนี้อาจมีส่วนให้พยาบาลผดุงครรภ์มีแนวทางดูแลคุณแม่ระยะคลอดให้สามารถคลอดด้วยตนเองและรู้สึกดีต่อการคลอด
ข้อสรุปสำคัญ ได้แก่
1. การฝึกเตรียมตัวคลอดอย่างเป็นรูปแบบไม่จำเป็นเสมอไป คุณแม่แต่ละคนมีระบบการเตรียมตัวคลอดตามแนวทางของตนเองตามธรรมชาติ
2. การประคบประหงมมารดาในระยะคลอดไม่จำเป็นเสมไป การคิดบวกเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการเผชิญการคลอด และวิธีการเผชิญการคลอดที่ดีคือการเคลื่อนไหว เปลี่ยนท่า ซึ่งส่งเสริมให้ลูกเคลื่อนผ่านหาทางคลอดออกมาได้ดี
ในระยะตั้งครรภ์ คุณแม่ทุกคนมีความกลัวการคลอด และพยายามหาความรู้เกี่ยวกับการคลอดเพื่อให้เกิดความมั่นใจในการคลอด แหล่งข้อมูลความรู้ที่สำคัญคือ แม่ เพื่อนที่ทำงาน คนรู้จักที่เคยคลอด หนังสือ โทรทัศน์ ส่วนความรู้เรื่องการคลอดที่ได้รับจากบุคลากรวิชาชีพด้านสุขภาพนั้นไม่เพียงพอ ไม่ว่าจะฝากครรภ์ที่โรงพยาบาลหรือคลินิกก็ตาม คุณแม่ตั้งครรภ์ต้องการความรู้และคำปรึกษาเกี่ยวกับการคลอดและวิธีปฏิบัติตนระยะคลอดจากการฝากครรภ์
เมื่อเข้าสู่ระยะเจ็บครรภ์คลอด คุณแม่ส่วนใหญ่พบว่า การคลอดเป็นความเจ็บปวดที่รุนแรงชนิดที่คาดไม่ถึง แบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เป็นความรู้สึกทางลบที่รุนแรงที่สุด ความเจ็บปวดของแต่ละคนแตกต่างกัน บางคนปวดน้อย ปวดไม่นาน แต่ก็ปวดรุนแรงที่สุดในชีวิต บางคนปวดมากถึงขั้นรู้สึกทรมาน ทนไม่ไหว อยากขอผ่าตัดคลอดเพื่อพ้นจากความเจ็บปวด (คุณแม่มักขอผ่าตัดคลอดเมื่อใกล้คลอด) บางคนปวดนานจนถึงขั้นรู้สึกเหมือนจะตาย พลังที่จะช่วยให้คุณแม่ผ่านการคลอดได้คือพลังภายในหรือแรงฮึดคือความเข้มแข็งของแม่อันเกิดจากความรักและผู้พันที่มีต่อลูก นึกถึงลูก อยากเห็นหน้าลูก ทนเพื่อลูก และพลังงานภายนอกหรือกำลังใจคือความรู้สึกว่ายังอยู่ได้ทนได้เพราะมีคนอยู่เป็นเพื่อน ซึ่งต้องการสามีมากที่สุด
ประเด็นที่น่าสนใจ ได้แก่ ความสำเร็จในการเผชิญการคลอดของคุณแม่ขึ้นอยู่กับปัจจัย 2 ประการ ได้แก่ การให้ความหมายของความเจ็บปวดในทางบวก และความสามารถในการสื่อสารกับผู้ดูแล ตราบใดที่คุณแม่ยังคงคิดบวกได้ตลอดเวลา คุณแม่จะสามารถมีพลังใจในการอดทนต่อการเจ็บครรภ์จนผ่านการคลอดได้ และจากงานวิจัยนี้ดิฉันได้เขียนเอกสารเตรียมตัวคลอดแจกให้คุณแม่ที่หน่วยงานฝากครรภ์ โรงพยาบาลพุทธโสธร ตั้งต่ปี พ.ศ. 2547 หากใครต้องการติดต่อขอได้ที่ uchuahorm@gmail.com
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น