วันอังคารที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2556

“ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อกลุ่มอาการหลังผ่าตัดในผู้ที่ได้รับการผ่าตัดช่องท้อง” Factors Influencing Postoperative Symptom Clusters Among Persons Undergone Abdominal Surgery



สรุปเนื้อหาการจัดการความรู้
“เสวนาวิจัย Miniseries: Episode III” ครั้งที่ ๒
เรื่อง “ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อกลุ่มอาการหลังผ่าตัดในผู้ที่ได้รับการผ่าตัดช่องท้อง”
Factors Influencing Postoperative Symptom Clusters Among Persons Undergone Abdominal Surgery



วิทยากรโดย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุภาภรณ์ ด้วงแพง
วันอังคารที่ ๒๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๖ เวลา ๑๕.๓๐ - ๑๗.๓๐ น.
ณ ห้องประชุมนพรัตน์ฯ ชั้น ๖ คณะพยาบาลศาสตร์


สรุปเนื้อหาที่ได้จากการเสวนา 

             กลุ่มอาการหลังการผ่าตัดช่องท้อง นอกจากจะส่งผลให้ผู้ที่ได้รับการผ่าตัดทุกข์ทรมานแล้ว ยังส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อน การฟื้นสภาพล่าช้าและมีข้อจำกัดในการปฏิบัติหน้าที่ การวิจัยนี้เป็นการวิเคราะห์ข้อมูลทุติยภูมิ เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อกลุ่มอาการหลังผ่าตัดช่องท้อง กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ที่ได้รับการผ่าตัดช่องท้อง จำนวน 150 ราย เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้ แบบบันทึกข้อมูลทั่วไป แบบประเมินภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัด และแบบประเมินอาการหลังผ่าตัดช่องท้อง วิเคราะห์ข้อมูลทั่วไปโดยใช้สถิติพรรณนา สถิติการวิเคราะห์ปัจจัย (Factor analysis) และการวิเคราะห์ถดถอยพหุคูณแบบขั้นตอน

              ผลการวิจัยพบว่า ในแต่ละวันของวันที่ 1, 3 และ 5 หลังการผ่าตัด มีกลุ่มอาการเกิดขึ้น 2 กลุ่มอาการ ในวันที่ 1 หลังผ่าตัด 2 กลุ่มอาการคือ 1) อาการปวดแผลผ่าตัด อาการท้องอืด อาการอ่อนล้า และ 2) อาการวิตกกังวล และนอนไม่หลับ โดยปัจจัยที่ทำนายกลุ่มอาการแรก คือ ขนาดของแผล และชนิดของการผ่าตัด (Beta= .236 และ .179 ตามลำดับ; R2 = 8.9) และไม่มีปัจจัยใดที่สามารถทำนายกลุ่มอาการที่ 2

              กลุ่มอาการที่เกิดขึ้นในวันที่ 3 หลังผ่าตัด คือ 1) อาการปวดแผลผ่าตัด อาการท้องอืด อาการอ่อนล้า และอาการนอนไม่หลับ และ 2) อาการวิตกกังวลและคลื่นไส้อาเจียน โดยปัจจัยที่ทำนายกลุ่มอาการแรก คือขนาดของแผลผ่าตัด ภาวะแทรกซ้อน และชนิดของการผ่าตัด (Beta =.338, .242 และ .213 ตามลำดับ; R2 = 23.0 ) และปัจจัยที่สามารถทำนายกลุ่มอาการที่ 2 คือ อายุ (Beta = .279; R2 = 7.8)

             กลุ่มอาการที่เกิดขึ้นในวันที่ 5 หลังผ่าตัด คือ 1) อาการปวดแผลผ่าตัด ท้องอืด อ่อนล้าหลังการผ่าตัด และ 2) อาการวิตกกังวล นอนไม่หลับ โดยปัจจัยที่สามารถทำนายกลุ่มอาการแรก คือ ขนาดของแผลผ่าตัด (Beta =.282; R2 = 8.0) และปัจจัยที่สามารถทำนายกลุ่มอาการที่ 2 คือขนาดของแผลผ่าตัด และระยะเวลาในการผ่าตัด (Beta = .286 และ .226 ตามลำดับ; R2 = 19.1)

             ผลการวิจัยนี้สามารถใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานเพื่อพัฒนาแนวทางการจัดการกลุ่มอาการหลังผ่าตัดสำหรับผู้ที่ได้รับการผ่าตัดช่องท้องที่มีประสิทธิภาพ และการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มอาการหลังผ่าตัดช่องท้องต่อไปการวิจัยนี้ เป็นศึกษาตามแนวคิดและทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับการจัดการกลุ่มอาการ (Symptom Clusters) ซึ่งชี้ให้เห็นว่า อาการของที่เกิดขึ้นมักไม่ได้เกิดเพียงอาการเดียว แต่สามารถเกิดได้มากกว่า ๑ อาการ นั่นหมายถึงอาจจะมีอาการอื่นๆ เกิดขึ้นร่วมกันเสมอ จึงส่งผลให้การจัดการอาการมีความยุ่งยาก หรือไม่ประสบผลสำเร็จ ดังนั้นจึงควรให้ความสำคัญกับกลุ่มอาการที่เกิดขึ้นร่วมกันเพื่อหาแนวทางในการจัดการกับกลุ่มอาการดังกล่าว

การเผยแพร่ :
๑. แจกจ่ายเอกสารสรุปเนื้อหาการเสวนา ยังคณาจารย์ทุกท่านของคณะพยาบาลศาสตร์ และนิสิตที่เข้าร่วมเสวนาวิจัยฯ
๒. เผยแพร่สรุปเนื้อหาทาง เว็ปไซต์ http://nurse.buu.ac.th/BgKM/ การจัดการความรู้ของคณะพยาบาลศาสตร์
๓. สรุปผลการดำเนินกิจกรรมในแฟ้มการจัดการความรู้ ฝ่ายวิจัยฯ คณะพยาบาลศาสตร์ สามารถขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายวิจัยฯ ห้อง N๑๐๑ หรือ โทร. ๒๘๒๓

วันพุธที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2556

การบูรณาการงานบริการวิชาการกับการเรียนการสอนและการทำวิจัย "โครงการบริการส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ"

           การบูรณาการงานบริการวิชาการกับการเรียนการสอนและการทำวิจัย 
"โครงการบริการส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอาย" 
กลุ่มวิชาการพยาบาลผู้สูงอายุ 


             โครงการบริการส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ เริ่มดำเนินการครั้งที่ ๑ มาตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๓๕ และได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องจนถึงโครงการบริการส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ ครั้งที่ ๒๑ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๕๕ ซึ่งการจัดโครงการบริการส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุนี้ มีรูปแบบการจัดที่เน้นการบูรณาการเนื้อหากิจกรรมในการเรียนการสอน การบริการวิชาการ และการวิจัย ลักษณะกิจกรรมประกอบด้วย

             ๑. กิจกรรมการบริการวิชาการ ได้แก่ การตรวจสุขภาพผู้สูงอายุเบื้องต้น กิจกรรมนันทนาการ การแสดงความสามารถของผู้สูงอายุ นิทรรศการ การสอนและสาธิต การให้ความรู้/คำปรึกษาด้านสุขภาพแก่ผู้สูงอายุ ผู้ดูแลและประชาชนที่สนใจ ซึ่งประเด็นหลักของกิจกรรมที่จัดขึ้นในแต่ละปีจะสอดคล้องกับความต้องการของผู้สูงอายุ ตามข้อเสนอแนะที่ผู้เข้าร่วมโครงการฯ ระบุไว้ในการประเมินผลการจัดโครงการฯ ครั้งที่ผ่านมา ร่วมกับเป็นเรื่องที่สำคัญได้รับความสนใจ ณ ช่วงเวลานั้นๆ

             ๒. กิจกรรมการเรียนการสอน ที่เน้นให้นิสิตได้ฝึกประะสบการณ์วิชาชีพ เพื่อให้การดูแลและส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ โดยบูรณาการในการจัดการเรียนการสอนหลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต ตั้งแต่ปีการศึกษา ๒๕๓๕ จนถึงปัจจุบัน ได้แก่ รายวิชาปฏิบัติการดูแลสุขภาพในภาวะเจ็บป่วยเรื้อรัง และรายวิชาปฏิบัติการพยาบาลผู้สูงอายุ และหลักสูตรพยาบาลศาสตรมหาบัณฑิต รายวิชาปฏิบัติการพยาบาลผู้สูงอายุขั้นสูง ๑ โดยนิสิตทั้ง ๒ หลักสูตรฯ ได้พัฒนาและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันจากการมีส่วนร่วมในการดำเนินงานทุกกระบวนการตั้งแต่แรกเริ่มจนสิ้นสุดกิจกรรมโดยมีคณาจารย์เป็นที่ปรึกษา

              ๓. การวิจัย โครงการฯ ครั้งที่ ๑๕ มีการใช้กระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาความรู้ การปฏิบัติ และเจตคติต่อการพยาบาลผู้สูงอายุของนิสิตพยาบาล สรุปได้ว่า กระบวนการพัฒนาฯ ประกอบด้วย การเตรียมการ การกำหนดเป้าหมาย การดำเนินการ และการประเมินผล นิสิตพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการฯมีคะแนนความรู้เกี่ยวกับการพยาบาลผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น ค่าเฉลี่ยของคะแนนการปฏิบัติและเจคติต่อการพยาบาลผู้สูงอายุของนิสิตภายหลังการจัดโครงการฯ เพิ่มขึ้น

             การจัดโครงการฯ นี้ ส่วนใหญ่มีการดำเนินการร่วมกับหน่วยงานภายนอก คือ เทศบาลเมืองแสนสุข นอกจากนี้ ยังได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานอื่นๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนเกี่ยวกับทีมบุคลากรเพื่อการตรวจสุขภาพผู้สูงอายุ และการร่วมกิจกรรมการให้ความรู้ด้านสุขภาพ

             การประเมินผลการจัดกิจกรรมของโครงการฯ ในภาพรวม ผู้สูงอายุและประชาชนที่เข้าร่วมกิจกรรมในโครงการฯ ตระหนักถึงความสำคัญต่อการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุมากขึ้นจากการได้รับความรู้เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพและจากการตรวจคัดกรองภาวะสุขภาพ ผู้สูงอายุได้แสดงออกถึงคุณค่าและความสามารถของตนเอง เกิดเครือข่ายการทำงานร่วมกันระหว่างผู้สูงอายุ ชุมชน และคณะฯ นิสิตได้พัฒนาความรู้ ทักษะและเจตคติที่ดีต่อผู้สูงอายุ รวมทั้งคณาจารย์ได้บูรณาการการบริการวิชาการกับการเรียนการสอนและการวิจัยอย่างต่อเนื่อง